Thursday, March 26, 2009

บทความ คุณอาคม ซิดนีย์ ตอนที่ 2

ฉบับที่ ๒
๑๘ เมษายน ๒๕๕๐
ประวัติร้ายซ้ำรอยเดิม

โดย อาคม ซิดนีย์
http://www.arkomsydney.com/Article2.htm

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ ถ้าหากจะพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน และถ้าหากท่านผู้อ่านได้ศึกษาและค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา ก็จะพบความจริงอย่างหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้รวมเวลาถึง ๗๕ ปี แต่บนเส้นทางการเมืองก็ยังคงเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากประชาชนเกิดความไม่พอ ใจในระบอบการเล่นพวกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมอบภารกิจให้แก่ “คณะอภิรัฐมนตรี” (คณะรัฐมนตรี ) ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่พระองค์ท่านทรงคัดเลือก เจ้านายแต่ละพระองค์เป็นผู้ดำเนินการบริหารประเทศ คณะอภิรัฐมนตรีต้องประสพปัญหาเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำอยู่ในเวลานั้น ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจภายในประเทศไปในทิศทางที่ประชาชนได้รับความเดือนร้อน จึงเกิดเป็นกระแสความไม่พอใจแผ่ไปสู่วงกว้างและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ปัญชาชนทั้งในและนอกประเทศ

บทบาทของปัญญาชนภายในประเทศในเวลานั้นยังมีข้อจำกัดอยู่ในวงแคบที่ไม่มีบทบาทมากนัก นอกจากจับกลุ่มพูดคุยในลักษณะปรับทุกข์ ไม่เหมือนปัญญาชนที่ได้มีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ ซึ่งมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและดูเหมือนกลุ่มปัญญาชนที่ให้ความสนใจในปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานั้น คงไม่มีกลุ่มใดที่โดดเด่นเท่ากับนักเรียนทุนรัฐบาลในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสและถ้าจะให้เห็นเป็นภาพชัดเจน ผมคงต้องกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบุคคลผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างสูงในการเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือท่านปรีดี พนมยงค์

ขอกล่าวโดยสังเขป ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกฏหมาย ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นกำเนิดระบอบเสรีนิยมในประเทศไทย ท่านปรีดีมีความสนใจเป็นพิเศษเข้าขั้นหลงไหลในระบอบเสรีนิยมอย่างลึกซึ้ง จนเกิดเป็นแนวความคิดว่า “กฏหมายจะไม่มีคุณค่าเลยถ้าหากว่ากฏหมายนั้นมิได้ร่างขึ้นโดยเสรีชน” อันหมายความว่า “ประชาธิปไตยย่อมเป็นของปวงชนนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาดหากกฏหมายมีการผูกขาดที่ร่างขึ้นโดยเพียงกลุ่มผู้มีอำนาจที่ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูง”

ท่านปรีดีเป็นนักกฏหมายที่มีความตั้งใจยึดมั่นในเหตุผลและความเห็นอกเห็นใจประชาชน แต่ คุณสมบัติดังกล่าวเป็นเพียงพื้นฐานของนักกฏหมายที่ยังไม่ได้ปรับมาเป็นความคิดและอุดมการณ์ จวบจนเขาได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฏหมายและสอบได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส

นักศึกษาทุนภายใต้การดูแลของเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูงพระองค์หนึ่งที่โปรดการใช้อำนาจและไม่มีพระทัยหนักแน่นและกริ้วโกรธง่าย ท่านปรีดีเป็นผู้ปราดเปรื่องในเรื่องการเรียน เขาจึงมีความโดดเด่นในหมู่นักเรียนไทยในทางวิชาการ พวกเขามักจะจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องการ เมืองในยามว่าง ท่านปรีดีเป็นคนที่มีความสามารถในการพูดให้เข้าใจด้วยวิธีง่ายๆ จนเป็นที่ติดอกติดใจของนักศึกษาปัญญชานจนได้สมญานามว่า “อาจารย์”

จากการพูดคุยกันในกลุ่มนักศึกษาไม่กี่คน ไม่นานหลังจากนั้น ท่านปรีดีก็กลายเป็นผู้ปราชญ์เปรื่องที่มีกลุ่มนักเรียนไทยไปฟังเขาพูดเพิ่มจำนวนมากขึ้น ร.อ.แปลก พิบูลย์สงคราม ที่สอบชิงทุนไปเรียนต่อโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ที่ “ฟองแตนโปล” นอกกรุงปารีสก็ยังต้องเดินทางมาฟังด้วยความสนใจอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า “เป็นแฟนพันธ์แท้” ความโด่งดังของคุณปรีดีในเวลานั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรุงปารีสเท่านั้น หากแต่เขายังได้รับเชิญให้ไปร่วมงานชุมนุมนักเรียนที่กรุงลอนดอนอีกด้วย

พฤติกรรมของท่านปรีดีย่อมเป็นที่รับรู้ไปถึงท่านเอกอัครทูตอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นการเดินทางของท่านปรีดีและเพื่อนเพื่อไปร่วมชุมนุมนักเรียนที่กรุงลอนดอนนั้น ท่านเอกอัครราชทูตไม่เพียงแต่ไม่ทรงอนุญาติเท่านั้น หากแต่ยังได้ทรงมีพระอักษรไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “นักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนทุนเป็นหัวหน้าที่มีใจฝักไฝ่เป็นพวกบอลเชวิก” เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มนักศึกษาจึงผนึกกำลังตอบโต้โดยกล่าวหาว่า “ท่านเอกอัคร ราชทูตทรงใช้จ่ายเงินหลวงไม่ถูกต้องและเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ทำให้ประเทศไทยเสียหน้าในสัน ติบาตชาติ การกระทำของท่านเอกอัครราชทูตดังกล่าวสมควรจะได้รับโทษด้วยการตัดหัวทั้งโคตร”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีน้ำพระทัยเที่ยงธรรม ภายหลังเมื่อได้ทรงไต่สวนแล้ว ก็มีพระราชดำรัสว่า “พวกฝักไฝ่บอลเชวิกจะต้องเรียนต่อให้จบเสียก่อน” โดยที่นักศึกษาไม่ได้ รับการลงอาญาและที่ทำให้ท่านเอกอัครราชทูตต้องมีอันเจ็บช้ำพระทัยนั่นก็คือ “ท่านปรีดีได้ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้วยเกียรตินิยมดีมาก แล้วก่อนที่นักศึกษาจะได้แยกย้ายกันกลับสู่มาตุภูมิ พวกเขาได้ร่วมกันสาบานว่า “จะร่วมกันกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งมี ร.อ.แปลก ร่วมอยู่ในกลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นด้วย

หกปีผ่านไปภายหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาจากรุงปารีสกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน ต่างก็แยกย้ายกันไป แต่ส่วนใหญ่ได้เข้ารับราชการ ท่านปรีดีก็ได้งานที่ตรงกับความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาคือ รับราชการอยู่ ที่กระทรวงยุติธรรม พร้อมกับการสอนหนังสือที่โรงเรียนกฏหมายอันเป็นสถานศึกษาเก่าของเขา และที่สถานศึกษาแห่งนี้ เขาได้จุดประกายให้กลุ่มปัญญาชนเป็นจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเรียนและศึกษาระบอบประชาธิปไตยที่เกี่ยวโยงกับวิชากฏหมายที่เขาสอนอยู่

หลักการสอนของท่านปรีดีไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิชากฏหมายและการเมือง หากแต่มีการอธิบายและชี้ทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของโลกและมีผลกระทบต่อประเทศสยาม โดยยกปัญหาที่เห็นเป็นรูปธรรมประกอบการสอนในเวลานั้นคือ การว่างงานและความทุกข์ยากของประชาชนในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงกองทัพด้วยเนื่องจากมีนายทหารจำนวนมากที่ต้องออกจากราชการ กล่าวคือประชาชนคนไทยอยู่ในสภาวการณ์ยากลำบากกันถ้วนหน้า ดังนั้นปัญญาชนกลุ่มหนึ่งจึงได้ รวมตัวกันเป็นคณะพลเรือนเพื่อทำหน้าที่เป็นมันสมองในการแก้ไขปัญหา

ในขณะที่ พ.ต.แปลก พิบูลย์สงคราม สังกัดกองพันทหารปืนใหญ่ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิด กับนายทหารชั้นนำซึ่งมีความไม่พอใจในระบบการบริหารของเจ้านายที่ทรงอำนาจในเวลานั้น และเมื่อสบโอกาส พ.ต.แปลกจึงได้เล่าความคิดเห็นของท่านปรีดีถ่ายทอดให้นายทหารชั้นนำเหล่านั้น พร้อมกับอธิบายอุดมการณ์และความคิดต่างๆ เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่กรุงปารีส

ท่านปรีดีได้ยกร่างรัฐธรรมนูญให้บรรดาทหารหาญได้ศึกษาเค้าโครงของระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้กลุ่มนายทหารดังกล่าวชื่นชอบประชาธิปไตยตามร่างรัฐธรรมนูญชนิดหลงไหลและยกให้เป็นคัมภีย์อันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมนต์ขลัง จึงมีการรวมตัวกันเป็นคณะนายทหารที่ให้การสนับสนุนและรวมตัวเข้ากับคณะพลเรือนเป็นหนึ่งเดียวกลายเป็นคณะพันธมิตรที่มีชื่อว่า “คณะราษฏร์” ในที่สุด และเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายนพ.ศ. ๒๔๗๕

แม้การปฏิวัติและยึดอำนาจได้สำเร็จและมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติว่า “พระบรมวงศานุวงค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ดังนั้นคณะรัฐมนตรีชุดนี้จึงประกอบด้วยสามัญชนทั้งหมด ซึ่งมีทั้งพลเรือนในกลุ่มของท่านปรีดีและคณะนายทหารผู้ก่อการโดยมี พ.อ.พระยามโนปกรณ์ นิติธาดา อดีตประธานศาลฏีกาเป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่างยังไม่มีการเลือกตั้ง ส่วนท่านปรีดีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกา รคลังเพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเงินของประเทศและการเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในเวลานั้น

นโยบายเศรษฐกิจที่ท่านปรีดีมีแนวคิดที่จะโอนกิจกรรมทางการเกษตรและการพานิชยกรรมมาเป็นของรัฐทั้งหมด ได้ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองอย่างรุนแรงโดยกล่าวหาว่าเป็นแนวทางสังคมนิยม เป็นเหตุให้ท่านปรีดีต้องกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดการแตกแยกกันทางความคิด นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญและปิดสภา พร้อมกล่าวหาว่าท่านปรีดีเป็น คอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ท่านปรีดีต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

ความขัดแย้งในครั้งนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกให้แก่คณะนายทหารผู้ก่อการ เพราะเกรงจะมีการล้างแค้นเอาคืนจากกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นพวกนิยมเจ้า จึงได้มีการผนึกกำลังทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารทำการยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์ฯ และแต่งตั้งให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้มีอิทธิพลสูงสุดในกองทัพเวลานั้นขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านปรีดีจึงได้มีโอกาสกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง และได้ถูกสอบสวนเรื่องที่ถูกกล่าวหาโดยมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งมีชาวต่างชาติร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวน ผลแห่งการวินิจฉัยปรากฏว่ามีมติให้ท่านปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

รัฐบาลพระยาพหลฯ แม้จะยึดอำนาจการปกครองจากพระยามโนปกรณ์ฯได้สำเร็จ แต่บนความเป็นจริงแล้ว การบริหารบ้านเมืองในเวลานั้นก็ใช่ว่าจะสงบนิ่งและราบรื่น เนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่นิยมเจ้า ตลอดจนเจ้านายชั้นสูงบางพระองค์ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับไปสู่ระบอบเดิมคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นจึงเกิดมีการทำการยึดอำนาจโดยเจ้านายพระองค์หนึ่งหากแต่ไม่สำเร็จที่เรียกกันว่า “กบฏบวรเดช” เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เกิดวีระบุรุษซึ่งเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในเวลานั้นคือ พ.อ.แปลก พิบูลย์สงคราม หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า จอมพล ป.

หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.อ.แปลก ได้รับการปูนบำเหน็จด้วยการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองพล ๑ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจอิทธิพลสูง และโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อทางการเมืองและการทหาร พล.ต.แปลก จึงไม่รีรอที่จะใช้อำนาจที่มีอยู่ทำการกวาดล้างกลุ่มอิทธิพลของเจ้านายชั้นสูงและพวกนิยมเจ้า มีผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตถึง ๑๖ คน และตัดสินจำคุกอีกหลายร้อยคน โดยไม่มีการละเว้นแม้บุคคลสำคัญระดับเจ้านายชั้นสูง

ผมต้องขอย้ำเพื่อความเข้าใจเล็กน้อยเกี่ยวกับ “คณะราษฏร์” หรือกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เป็นการรวมตัวกันของคนสองกลุ่ม ประกอบด้วยคณะพลเรือนและคณะนายทหาร ดังนั้นการกวาดล้างด้วยวิธีรุนแรงของคณะนายทหารภายใต้การนำของ พล.ต.แปลกนั้น ฝ่ายคณะพลเรือนซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยมหรือปัญญาชนที่ให้การสนับสนุนนายปรีดีเฝ้ามองดูด้วยความไม่สบายใจ ทั้งนี้ท่านผู้อ่านควรทราบด้วยว่า กลุ่มปัญญาชนฝ่ายเสรีนิยมหรือจะเรียกว่าเสรีชนนั้นเป็นพวก จารีตนิยมที่เดินสายกลาง ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าแต่สนับสนุนให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นความขัดแย้งเล็กๆ ระหว่างคนสองกลุ่มจึงมีจุดเริ่มต้นจากสาเหตุนี้

ถ้าจะให้เน้นชัดเจนในประเด็นความขัดแย้ง ผมมีความเห็นเป็นการส่วนตัวว่ามีที่มาจากหลักคิด หลักคิดแบบทหารให้ความสำคัญในเรื่องกฏระเบียบและวินัย โดยมีอำนาจเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้ ดังนั้นจึงอย่าได้แปลกใจว่า ยุคจอมพล ป.จึงมีกฏระเบียบมากมายตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นการแต่งกายต้องสวมหมวกแบบตะวันตกจนกระทั่งเชื่อฟังผู้นำชาติปลอดภัย ใครมีความคิดต่างถือว่าไม่เชื่อผู้นำจะต้องถูกกวาดล้างด้วยวิธีการรุนแรง อันเป็นที่มาของอำนาจเผด็จการ ส่วนหลักคิดในฝ่ายพลเรือนมุ่งเน้นหลักการปกครองที่ให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมที่เรียกว่าเสรีนิยม และได้รับการสนับสนุนจากเสรีชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นท่านปรีดีจึงเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนทั่วไปเฉกเช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณในเวลานี้

อย่างไรก็ตามแม้จะมีความขัดแย้งซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่าย แต่ก็ต้องพยายามประคับประคองไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง เนื่องจากต่างก็ยังมีความระแวงในกลุ่มอำนาจเก่าที่มีรากฐานแห่งอำนาจมายาวนานนั่นเอง แล้วสิ่งที่รัฐบาลระแวงก็ปรากฏผลเป็นรูปธรรมที่มีกลุ่มบุคคลไม่สมหวังในระบอบประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการได้วางแผนการกบฏขึ้น ทันทีที่พล.ต.แปลก.ล่วงรู้ข่าวลือที่เกิดขึ้นจึงได้วางแผนปราบปรามและถือโอกาสกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามที่นิยมเจ้าในส่วนที่หลงเหลือแบบขุดรากถอนโคน

ผลจากการกวาดล้างในครั้งนี้ พล.ตแปลกกล่าวหาพวกกบฏว่าเป็น “แผนการของพวกนิยมเจ้าที่มีความประสงค์จะนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาใช้อีก” ดังนั้นการจับกุมกลุ่มผู้คิดก่อการจึงไม่มีการละเว้นเป็นจำนวนหลายร้อยคน มีผู้ถูกประหารชีวิต ๑๘ คน และจำคุกตลอดชีวิต ๑๐ คน ในจำนวนผู้ที่ถูกจำคุกตลอดชีวิตมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ร่วมอยู่ด้วยพระองค์หนึ่งคือ “กรมขุนชัยนาทนเรนทร” ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล การปราบปรามด้วยมาตราการรุนแรงในครั้งนี้ ยังส่งผลให้พวกเสรีชนที่สนับสนุนท่านปรีดีหมดอำนาจลงไปด้วย

เค้าลางแห่งเผด็จการเบ็ดเสร็จเริ่มปรากฏขึ้นชัดเจนเพราะภายหลังจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ พล.ต.แปลก ก็เริ่มหันมาระแวงกลุ่มเสรีชนที่ให้การสนับสนุนท่านปรีดีด้วยการตั้งขบวนการเยาวชนขึ้น ตามแบบยุวชนของฮิตเลอร์ ปลูกฝังให้รักชาติเพื่อถ่วงดุลอำนาจกลุ่มเสรีชนที่สนับสนุนท่านปรีดี พร้อมกับตั้งตัวเองเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการตอบโต้ท่านปรีดีที่สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยที่กลุ่มคณะพลเรือนได้แต่เฝ้ามองความทะเยอทะยานและหลงอำนาจจนลืมตัวของพล.ต.แปลกอยู่อย่างเงียบๆ เพื่อรอคอยโอกาส

ความทะเยอทะยานของพล.ต.แปลกมิได้มีขอบเขตที่อยากจะมีอำนาจเพียงภายในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป้าหมายที่ต้องการคือการเป็นผู้นำของเอเซียอาคเนย์ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดสงครามขึ้นในยุโรป เขาก็ประกาศความเป็นกลางและลงนามใน “สนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกันกับฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๓ และเพียง ๓ เดือนให้หลัง ทันทีที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงคราม เขาก็มีคำสั่งให้กองทัพไทยโจมตีเขมรที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในการทำสงครามครั้งนี้ยังไม่รู้ผลแพ้และชนะ ญี่ปุ่นซึ่งกำลังมีอิทธิพลอยู่ในเอเซียก็เสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ทำให้ไทยได้ดินแดนส่วนหนึ่งกลับคืนมา

การต่อสู้จนสามารถทวงคืนดินแดนมาได้ส่วนหนึ่ง ทำให้จอมพล.ต.แปลกมีความรู้สึกเหมือนวีรบุรุษผู้ประสพความสำเร็จ และที่สำคัญเขาไม่ลืมที่จะเลื่อนยศตัวเองเป็นจอมพลแล้วเปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย พร้อมทั้งจัดให้มีการสวนสนามของวีรบุรุษรอบๆ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่การเฉลิมฉลองยังไม่ทันจะหายเหนื่อย เขาก็ต้องมีเรื่องหนักใจเข้ามาแทนที่ เพราะญี่ปุ่นต้องการให้ประเทศไทยมีข้อผู้มัดทางเศรษฐกิจ แต่จอมพล ป.ประกาศความเป็นกลาง พร้อมกับกล่าวว่าประเทศไทยมีทหารหนึ่งล้านคนพร้อมที่จะปกป้องประเทศได้ ในขณะที่ท่านปรีดีต้องการให้ออกกฏหมายเกณฑ์คนไทยที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศทำการป้องกันเอกราชจนกว่าชีวิตจะหาไม่” จุดประสงค์คือต้องการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้ผู้รุกรานลังเลใจ

“นับจากบรรทัดนี้ท่านผู้อ่านต้องอ่านด้วยความตั้งใจนะครับเพราะการออกกฏหมายฉบับนี้มีความ สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเอกราชของประเทศไทยที่ทำให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม” อีกทั้งยังเป็นการรุกกลับทางการเมืองของท่านปรีดีอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

การออกกฏหมายฉบับดังกล่าว แม้จอมพล ป.จะไม่ยินยอมพร้อมใจนัก แต่ในสถานการณ์เช่นนั้น ความขัดแย้งจะกลายเป็นอุปสรรค์ต่อการแก้ไขปัญหา เขาจึงยอมรับข้อเสนอ ด้วยคิดว่าอำนาจเท่า ที่มีอยู่ของเขาจะสามารถแก้กฏหมายได้ในภายหลังยามเมื่อเขาต้องการ แต่สำหรับท่านปรีดี “การกฏหมายฉบับนี้จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับท่านในอนาคตข้างหน้า”

แล้วกลางดึกของคืนวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นก็ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยแจ้งว่าญี่ปุ่นขอใช้สิทธิให้กองทัพญี่ปุ่นยกทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปบุกพม่าและมาลายูซึ่งอยู่ในการยึดครองของอังกฤษ โดยรัฐบาลไทยต้องมีคำตอบให้ภายใน ๑.๐๐ น. อันเปรียบเสมือนการยื่นคำขาดที่ต้องมีคำตอบภายในเวลา ๒-๓ ชั่วโมง ในเวลายามคับขันจำเป็นเช่นนั้น กลับปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อหรือตามหาตัวจอมพล ป.ได้ ภาระจึงต้องตกหนักอยู่ที่ท่านปรีดีซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีอาวุโสรองจากนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้

ท่านปรีดีไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ร่วมรับผิดชอบในการตัดสินใจ ท่านมีความหนักใจในภารกิจที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับการถูกคุกคามจากกำลังทหารที่ได้ชื่อว่าทารุณและโหดร้าย และภายในเสี้ยววินาทีที่สำคัญที่สุด ท่านปรีดีก็ได้พิสูจน์ในความยิ่งใหญ่ด้วยการประกาศว่า “เราจะต้องสู้” พอเช้าวันรุ่งขึ้น กองทัพญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบก แต่ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านด้วยความกล้าหาญของลูกหลานไทย และเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตาย จอมพล ป.ก็พิสูจน์ความยิ่งใหญ่เช่นกัน ด้วยการประกาศยกเลิกคำสั่งของท่านปรีดีและอนุญาติให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยได้ ซึ่งดูไปช่างละม้ายคล้ายกับนโยบาย “ปูผ้าขาวกราบขอโทษโจร” ของใครบางคนที่มีอำนาจอยู่เวลานี้

การได้คืบเอาศอก ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยยินยอมให้เดินทัพผ่านไทยได้ ญี่ปุ่นก็บีบบังคับให้ไทยลงนามทำสนธิสัญญาพันธมิตร ซึ่งจอมพล ป.ก็ยินยอมลงนามให้แต่โดยดี ในขณะที่ท่านปรีดีปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการทำสัญญาฉบับนี้ ด้วยมีความรู้สึกว่าไม่อยากมีส่วนในการทำความเสื่อมเสียเกียรติ์แก่ประเทศชาติ ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีของท่านปรีดีทำให้จอมพล ป.หวั่นไหวระคนดีใจ ดีใจที่หลุดพ้นจากอำนาจแต่หวั่นไหวว่าท่านปรีดีอาจใช้เวลาว่างทำการรวบรวมสมัครพรรคพวกที่สนับสนุนท่านก่อเหตุให้เกิดความยุ่งยากกับรัฐบาล ดังนั้นจอมพล ป.จึงเสนอชื่อแต่งตั้งท่านปรีดีเข้าดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ เพราะตำแหน่งนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเวลานั้น

บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงค์ทรงอยู่เหนือการเมือง” อันเป็นวิธีการผูก มัดท่านปรีดีไม่สามารถทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้นั่นเอง

ภายหลังจากได้เข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นแล้ว จอมพล ป.ยังได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและ อเมริกาโดยเสนอร่างพระราชบัญญัติประกาศสงครามดังกล่าวต่อสภาผู้แทนฯแล้วเสนอให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการลงพระนามประกาศสงคราม ขณะที่ท่านปรีดีไม่เห็นด้วย ในเวลาเดียวกันจอมพลป.ก็แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งสามเหล่าทัพ

ในระหว่างที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. ๒๔๘๓ นั้น เอกอัครราชฑูตประจำกรุงวอชิงตัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทผู้มีเชื้อสายพระราชวงค์จักรี “ได้ยึดถือกฏหมายที่นายปรีดีประกาศใช้ซึ่งบังคับให้คนไทยทุกคนต้องป้องกันเอกราชของประเทศไม่ว่ากรณีใดๆ”ออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงซานฟรานซิสโกว่า “เขาไม่ยอมรับนับถือรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลป.ซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นของญี่ปุ่นและได้ประกาศว่ากำลังจัดตั้งขบวน การเสรีไทยเพื่อช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากอันตราย”การประกาศดังกล่าวสถานีวิทยุบีบีซีได้ถ่ายทอดกระจายเสียงไปทั่วเอเซียซึ่งท่านปรีดีได้รับฟังด้วยความตื่นเต้นและยินดี

ท่านปรีดีจึงไม่รีรอที่จะจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นภายในประเทศเพื่อสนับสนุนด้วยความสุขุมรอบคอบ เพราะเป็นขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านญี่ปุ่น และท่านก็ยึดถือกฏหมายฉบับเดียวกันนี้ ซึ่ง ท่านเป็นผู้เสนอยกร่างขึ้นมากับมือของท่านเองว่า “ต้องการให้ออกกฏหมายเกณฑ์คนไทยที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศทำการป้องกันเอกราชจนกว่าชีวิตจะหาไม่” ดังนั้นการเคลื่อนไหวของท่าน ปรีดีแม้จะยังดำรงอยู่ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเทนพระองค์จึงไม่ผิดต่อกฏกติกาเพราะมีกฏหมายรองรับ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มก้วนของประธานองคมนตรีที่มีชื่อว่าเปรม ที่ทำตัวอยู่เหนือกฏหมายมาโดยตลอดด้วยประการฉะนี้

การจัดตั้งขบวนการเสรีไทยของท่านปรีดี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเสรีชนที่เป็นลูกศิษย์ ซึ่งมีทั้งทหารและพลเรือนกระจายอยู่ทั่วประเทศในเวลานั้น สิ้นปี พ.ศ.๒๔๘๕ ขบวนการเสรีไทยก็มีกำลังเข้มแข็งและมีสมาชิกถึงหกหมื่นคน พอต้นปีพ.ศ. ๒๔๘๖ ก็มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือที่ไม่พอใจฝ่ายรัฐบาลเข้ามาร่วมขบวนการนี้ด้วย แต่ก็ยังขาดอาวุธอยู่ ในเวลาเดียวกันสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอเมริกาก็ได้เดินทางมาถึงประเทศจีนในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน oss ของอเมริกาพร้อมกันนั้นพวกเสรีไทยจากอังกฤษก็ได้เดินทางมาถึงอินเดีย

พูดถึงเสรีไทยในประเทศอังกฤษ ผมสมควรที่จะต้องกล่าวถึง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน เอกอัคร ราชฑูตประจำนครลอนดอน ท่านผู้นี้เป็นพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่ หัว และเป็นพระราชอนุชาของพระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า ฯ ผู้ซึ่งทรงได้รับการศึกษาจากวิลวิช พระองค์ได้ทรงเลือกเฟ้นอาสาสมัครเข้าทำงานกับรัฐบาลเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล และได้ทรงรับการแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งในกองทัพอังกฤษ พระองค์จึงได้ทรงช่วยฝึกวิชาทหารให้เยาวชนไทย และได้รับการช่วยเหลือทางด้านอาวุธ พระองค์ทรงร่วมทุกข์และเสี่ยงอันตรายกับขบวนการเสรีไทยโดยพระองค์ทรงรับเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ ทรงลักลอบเข้าไทยโดยที่ท่านปรีดีแอบให้ความช่วยเหลือ ด้วยการให้นายทหารเรือนำท่านล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังบ้านท่านปรีดีเพื่อปรึกษาเป้าหมายของประเทศไทยหลังสงคราม และการสนทนาจบลงด้วยท่านปรีดีได้ถวายคำมั่นสัญญาแก่พระองค์ว่า “ถ้าหากท่านรอดชีวิตและได้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่มีอำนาจ ท่านจะพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ภายใต้ราชบัลลังก์ของในหลวงอนันท์ฯ และจะยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ท่านจะปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นพวกเจ้านาย แล้วจะยกเลิกข้อห้าม ที่ว่าพวกเจ้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง” พอถัดมาเพียงหนึ่งเดือน รัฐบาลจอมพล ป. ก็ถูกโค่น ล้มลง

การโค่นล้มจอมพล ป.คงไม่ง่ายดายนักหากญี่ปุ่นให้การสนับสนุน แต่ในเวลานั้นญี่ปุ่นมีความสงสัยในการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างเมืองใหม่ของจอมพล ป.จวบกับการสร้างเมืองใหม่ ของเขาทำให้กรรมกรก่อสร้างต้องล้มตายลงด้วยไข้ป่าเป็นจำนวนถึงสองหมื่นกว่าคน และสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้นเริ่มมีความเห็นใจพวกสมาชิกเสรีไทย จึงได้ปฏิเสธที่จะอนุมัติโครงการนี้ เขาจึงจำยอมต้องลาออกเพราะขาดเสียงสนับสนุนในสภาฯ และพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ซึ่งทรงอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ทรงลาออกด้วย จึงเหลือท่านปรีดีอยู่บนตำแหน่งแต่เพียงผู้เดียว โดยมีขบวนการเสรีไทยให้การสนับสนุนอยู่อย่างเหนียวแน่น
ท่านปรีดีได้จัดตั้งรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยพลเรือนที่เป็นพวกเสรีนิยมและนายทหารเรือ แต่ก็ยังยืน ยันอย่างมั่นคงว่าจะซื่อสัตย์ต่อญี่ปุ่น “เพราะยังไม่พร้อม” ในเวลาเดียวกันก็แอบให้ความช่วย เหลือแก่ขบวนการเสรีไทยอย่างลับๆ พร้อมกันนั้นก็ต้องคอยหลอกล่อกับกองทัพญี่ปุ่น ท่านจึงต้องเลือกนายควง อภัยวงค์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อเล่นตลกกับญี่ปุ่นไปวันๆ (ท่านผู้อ่านควรทราบด้วยว่านายควงเป็นบุคคลที่มีมุขตลกและลูกเล่นแพรวพราวในกลุ่มเพื่อนๆ) และในช่วงเวลารอคอยก็มาถึงเมื่อขบวนการเสรีไทยได้รับอาวุธที่สัมพันธมิตรได้ทิ้งร่มลงมาให้

นายควง สามารถประวิงเวลาให้ขบวนการเสรีไทยได้รับการติดอาวุธจนอยู่ในขั้นพร้อมรบ จวบกับความเคลือบแคลงที่มีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปรกติในเวลานั้น แล้วในที่สุดญี่ปุ่นก็ล่วงรู้และหายสงสัยว่าขบวนการเสรีไทยมีแน่นอน ซึ่งมีท่านปรีดีให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะบดขยี้ขบวนการเสรีไทย ซึ่งต่างฝ่ายก็อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมนั้น ก็ปรากฏว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่เมืองชิโรชิม่าและนางาซากิ เมื่อวันที่ ๖ และวันที่ ๙ สิงหาคมพ.ศ. ๒๔๘๘ ส่งผลให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ขบวนการเสรีไทยจึงไม่ต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้น และนายควงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยในฐานะเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีอเมริกาและอังกฤษเป็นหัวเรือใหญ่ แทนที่เราจะต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงครามเช่นเดียวกับญี่ปุ่น หากแต่ขบวนการเสรีไทยได้ช่วยให้หลุดพ้น โดยที่สหรัฐอเมริกาไม่รับรู้การที่ไทยประกาศสงครามกับตน ในขณะที่ประเทศอังกฤษก็ประกาศถึงความเข้าใจในเจตน์จำนงของ ขบวนการเสรีไทยว่ามีความปรารถนาที่จะรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศของชาติ และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ ก็เป็นผู้เชื่อมโยงให้มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพโดยอนุญาติให้กองทัพอังกฤษและอเมริกาคงอยู่เพื่อขับไล่กองทหารญี่ปุ่นได้

เมื่อพ้นจากภัยสงครามแล้ว สิ่งแรกที่ท่านปรีดีได้ทำนั่นก็คือโทรเลขไปกราบบังคมทูลพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลเสด็จนิวัตกลับสู่ประเทศไทย เพื่อให้เอกภาพของคนไทยที่เกิดขึ้นจากสงครามให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดท่านต้องการสานต่อเจตนารมณ์เดิมคือผลักดันระบอบประชาธิปไตยให้มีประชาชนเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น และแก้ไขปัญหาระบอบเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่มาเป็นเวลานาน ในเวลาเดียวกันท่านปรีดีก็ได้ขอให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเดินทางกลับมารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล

ท่านปรีดีต้องพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินมาถึงประเทศไทยและท่านก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” ในขณะที่ท่านอยู่ในวัย ๔๕ ปี ในช่วงเวลานั้นต้องนับว่าท่านปรีดีเป็นผู้ควบคุมสภานการณ์บ้านเมืองได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง โดยมีคณะรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและทำให้อุดมการณ์ที่เคยตั้งไว้ในอดีตมีความหวังที่จะเป็นจรีง เพราะลมแห่งเสรีภาพกำลังพัดแรง

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้รับการผลักดันจากท่านปรีดีให้ประกาศพระราชบัญญัติ อาชญากรสงครามซึ่งส่งผลให้จอมพลป.ต้องถูกจับกุมคุมขังในเวลาเดียวกันท่านปรีดีก็ไม่ลืมสัญญาที่ให้ไว้กับม.จ.ศุภสวัสดิ์จึงได้มีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้านายชั้นสูงได้รับอิสระภาพนับได้ว่าในเวลานั้นทางด้านการเมืองดูเหมือนจะเดินไปในทิศทางที่แจ่มใสและปราศจากอุปสรรคอันใดเพราะการดำเนินนโยบายเสรีประชาธิปไตยด้วยการมุ่งเน้นให้เสรีชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยไม่กีดกันพวกนิยมเจ้า แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้

ปัญหาอันเนื่องจากสนธิสัญญาสันติภาพที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญนั้น มีข้อแม้จากทางอังกฤษว่า “แม้อังกฤษจะไม่ควบคุมรัฐบาลและกองทัพไทย แต่ก็ปรารถนาที่จะให้กองทหารยึดครองของตนตั้งอยู่ในประเทศไทยต่อไปและขอสงวนอำนาจที่จะใช้ทรัพยกรใดๆในประเทศไทย ได้” เงื่อนไขดังกล่าว ม.ร.ว.เสนีย์ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นนักกฏหมายมีมุมมองด้วยความระแวงในเจตนารมณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ส่วนท่านปรีดีมีความปรารถนาที่จะให้มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพโดยเร็ว เพื่อไทยจะได้ก้าวไปข้างหน้าได้ อีกทั้งมีความเชื่อใจอังกฤษว่าจะทำอะไรอย่างมีเหตุมีผล เพราะว่าท่านปรีดีเคยเจราให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขตเป็นผลสำ เร็จเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อปัญหาเริ่มมีความขัดแย้ง ต่างจึงมีความคิดไปคนละทาง ท่านปรีดีมีความรู้สึกว่าท่านร่วมอยู่ใน เหตุการณ์มาโดยตลอดเวลาอันยาวนาน และเป็นผู้ที่เสี่ยงชีวิตมากกว่าใคร ทั้งก่อนสงครามและ ระหว่างสงครามในการต่อต้านจากการยึดครองของต่างชาติ ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ก็มีมุมมองของนักกฏหมาย อีกทั้งอยู่บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งในประเด็นปัญหานี้ทำให้ท่านปรีดีมีความอดทนน้อยกว่าในทุกครั้ง จวบกับอังกฤษยื่นข้อเสนอเข้ามาฉบับใหม่และมีข้อเรียกร้องรุนแรงกว่าฉบับก่อนหน้านี้ จึงทำให้สายสัมพันธ์ของทั้งสองต้องแตกร้าว มากยิ่งขึ้น

นอกจากความขัดแย้งในกรณีลงนามสนธิสัญญาสันติภาพแล้วยังมีความผิดพ้องหมองใจเพิ่มขึ้นในกรณีที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ต้องการแต่งตั้งพี่เขยตัวเองขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ในขณะที่ท่านปรีดีไม่เห็นด้วยและที่ทำให้ทั้งสองมาถึงจุดแตกหักนั่นก็คือ ภายหลังการลงนามได้ไม่กี่วัน รัฐบาลก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่สมัยนั้นยังไม่มีพรรคการเมือง ดังนั้นสมาชิกผู้แทนฯ จึงเป็นพวกอิสระที่ไม่มีพรรคให้สังกัด และงานที่สภาผู้แทนชุดใหม่ต้องทำก่อนอื่นก็คือ การลงมติเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งท่านปรีดีหันไปสนับสนุนเพื่อนร่วมงานคนอื่น

ผลของการเลือกตั้งปรากฏว่าบุคคลที่ท่านปรีดีเสนอชื่อให้การสนับสนุนไปนั้นไม่ได้รับการถูกเลือก หากแต่กลายเป็นนายควง อภัยวงค์ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นทั้งนายควงและ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่ท่านปรีดีเคยให้ความสนับสนุนทั้งคู่ จึงเกิดความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งเพราะไม่ได้รับการอุ้มชูดังแต่ก่อน เมื่อคิดได้ดังนี้นายควงจึงแต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและยังได้แต่งตั้งกลุ่มบุคคลที่เคยร่วมมือกันต่อต้านท่านปรีดีในอดีต จนทำให้ต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๖ ให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลนายควง

เมื่อเหตุการณ์บานปลายมาถึงขั้นนี้ พลพรรคของท่านปรีดีจึงมีความกังวลว่าไม่ปลอดภัย เพราะอาจถูกอำนาจรัฐบาลให้กลั่นแกล้งล้างแค้นเอาคืนในเรื่องก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอดีต จึงมีการผนึกกำลังกันต่อสู้กับรัฐบาลนายควงซึ่งส่งผลให้รัฐบาลนายควงต้องพ่ายแพ้ในการลงมติในญัตติที่ไม่มีความสำคัญ ส่งผลให้นายควงต้องกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ท่านปรีดีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังนายควงลาออก ม.ร.ว.เสนีย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ “น้องชาย” และนายควงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น ซึ่งมีกลุ่มชนชั้นเจ้านายและพวกนิยมเจ้าเข้าเป็นสมาชิกจำนวนมาก เพราะนักโทษการเมืองได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว สมาชิกทั้งหลายมีความเห็นร่วมกันที่จะสนับสนุนระบอบพระมหากษัตริย์และประกาศเป็นพรรคฝ่ายขวา และต่อต้านท่านปรีดีว่าเป็นคนหัวซ้ายนิยมคอมมิวนิส โดยลืมไปว่าท่านปรีดีคนนี้เป็นคนที่ช่วยให้พวกชนชั้นได้รอดพ้นจากการถูกข่มเหง ด้วยการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการถูกจองจำ

แต่คงไม่ง่ายนักที่จะทำการโค่นล้มและยัดเยียดความเป็นซ้ายให้ท่านปรีดี ตามคำชวนเชื่อของพลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่าเป็นพรรครวมเจ้าทั้งหมดเป็นฝ่ายขวา ส่วนพวกสนับสนุนท่านปรีดีเป็นฝ่ายซ้าย (พฤติกรรมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน) โดยลืมไปว่าผู้ที่ให้การสนับสนุนท่านปรีดีในขณะนั้น ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่กลุ่มปัญญาชนในกรุงเทพเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มคนธรรมดาที่ยากไร้ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่เคยร่วมขบวนการเสรีไทยให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น และแม้พรรคประชาธิปัตย์จะโหมโฆษณาชวนเชื่อว่า ท่านปรีดีมีความมุ่งหมายที่จะจัดตั้งสาธารณรัฐคอมมิวนิสขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนที่มีความนิยมในตัวท่านลดน้อยลง มิหนำซ้ำกลับทำให้ได้รับความเคารพมากกว่านักการเมืองทุกคนในสมัยนั้นซึ่งไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณในสมัยนี้

การที่ท่านปรีดียอมรับเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่มีโอกาสตลอดระยะเวลาอันยาวนานบนเส้นทางการเมือง อาจจะเป็นเพราะว่าท่านมีความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ท่านเสนอให้ร่างขึ้นนั้นจะมีผลทำให้มีรัฐสภาที่มีความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยึดมั่นในหลักการมากกว่าตัวบุคคลและสามารถสานต่ออุดมการในอดีต การปฏิรูปรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับท่านปรีดีและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็จะมีประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะท่านปรีดีกำลัง จะกราบบังคมทูลให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ท่านจึงได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนันท์ฯ ขอให้ทรงขยายเวลาที่จะประทับอยู่ในประเทศไทยออกไปอีก
เพื่อความเข้าใจผมสมควรกล่าวด้วยว่า แม้ท่านปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นการดำรงตำแหน่งชั่วคราว เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับในเวลานั้นจะต้องได้รับการเห็นชอบทั้งสองสภา ดังนั้นทุกคนจึงวางแผนมุ่งเอาชัยชนะให้ได้ในการเลือกตั้งพฤฒสภา(วุฒิสภา) และผลปรากฏว่าฝ่ายสนับสนุนท่านปรีดีชนะอย่างถล่มถลาย ดังนั้นท่านปรีดีจะต้องถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของทั้งสองสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันท์ฯ ก็มีพระกระแสรับสั่งให้ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปพร้อมกับพระบรมราชโองการแต่งตั้งท่านในเวลาต่อมา

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็พลันบังเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน เป็นความกระทันหันที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศทำใจไม่ได้ที่มีข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จสวรรคต กรณี สวรรคตฯ ทำให้รัฐบาลท่านปรีดีเสมือนหนึ่งโต้มรสุมอยู่กลางทะเล อันเนื่องจากไม่สารถหาเหตุผลในการชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจของประชาชนได้ เพราะผลแห่งคดีไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด และยิ่งเวลาผ่านพ้นไปนานเท่าไรก็จะยิ่งไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้น คนที่ต้องทุกข์ร้อนและกังวลที่สุดคงหนีไม่พ้นท่านปรีดีนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสอย่างแน่นอน แล้วในที่สุดผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันในร่างแถลงการณ์ที่ช่วยกันร่างขึ้นและออกในนามของสำนักพระราชวังมีใจความว่า

“นับตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ศกนี้ เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภีไม่เป็นปรกติและทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง แม้กระนั้นก็ดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนราษฏรเป็นพระกรณียกิจของพระองค์ ครั้นต่อมาพระอาการเกี่ยวกับพระนาภีก็ยังมิได้ทุเลาลง จึงต้องเสด็จประทับอยู่บนพระที่นั่ง มิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ ๙ มิถุนายน ศกนี้ เมื่อตื่นพระบรรทมตอนเช้าเวลา ๖.๐๐ นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถน้ำมันละหุ่งแล้วเข้าห้องสรง ซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวันแล้วก็เสด็จเข้าพระที่ ครั้นเวลาประมาณ ๙.๐๐ นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่ง จึงได้วิ่งเข้าไปดูเห็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีโลหิตไหลเปื้อนพระองค์และสวรรคตแสียแล้ว มหาดเล็กห้องพระบรรทมจึงได้ไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีให้ทรงทราบ แล้วเสด็จไปถวาย บังคมพระบรมศพ จากนั้นอธิบดีกรมตำรวจและอธิบดีกรมการแพทย์ได้ไปตรวจพระบรมศพและสอบสวนได้ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงทรงจับพระแสงปืนเล่นตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น” แถลงการณ์ฉบับนี้ได้ออกอากาศตอนหัวค่ำ

ผลแห่งการออกอากาศแทนที่จะทำให้ประชาชนได้รับความกระจ่างจากแถลงการณ์ของรัฐบาล กลับทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนาๆ และปรากฏข่าวลือไปในทางที่ไม่เป็นมงคลที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นพวกนิยมเจ้าซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความสงสัยและตั้งคำถามเป็นประเด็นว่า ประการแรกมีความสงสัยในแถลงการณ์ที่ได้กล่าวเกือบทุกอย่างที่เกิดขึ้น ยกเว้นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงคือ อุบัติเหตุ ประการที่สอง ทำไมถึงไม่มีการจับกุมเพราะเหตุการณ์เช่นนี้ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะต้องประหารชีวิตทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลองค์พระมหากษัตริย์และประการสุดท้าย แถลงการณ์ฉบับต่อมาของเจ้าหน้าที่มีความไม่แน่ใจและได้กล่าวถึงสาเหตุแห่งการสวรรคตที่อาจเป็นไปได้ ๓ ประการคือ๑.การลอบปลงพระชนม์๒.การปลงพระชนม์เอง และ๓.อุบัติเหตุ

จากประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้นกลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนทางการเมืองและมีการเรียกร้องให้ท่านปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบและกล่าวหาว่าท่านปรีดีเป็นผู้กราบถวายบังคมทูลเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันท์ฯ เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยและยังได้ขยายเวลาประทัพของพระองค์ การกล่าวหาของพลพรรคประชาธิปัตย์ก่อให้เกิดเป็นกระแสเกลียดชังและคลั่งแค้นในหมู่ประชาชนที่มีต่อรัฐบาล และที่หนักหนาสาหัสที่เป็นประเด็นพิฆาตโดยมุ่งหวังให้ท่านปรีดีไม่เพียงแต่จะหมดสภาพทางการเมืองเท่านั้น หากแต่หวังผลให้ถึงตายเลยทีเดียว นั่นก็คือมีโทรศัพท์ลึกลับแจ้งไปยังคณะฑูตอเมริกัน อังกฤษและหัวหน้าหน่วยทหาร ตลอดจนคนทั่วไป ว่า “กรณีสวรรคตเป็นการลอบปลงพระชนม์โดยระบุชื่อว่านายปรีดีเป็นฆาตกร” ในเวลาเดียวกันก็ส่งชายนิรนามไปตะโกนท่ามกลางความมืดในโรงภาพยนต์เฉลิมกรุงว่า “นายปรีดีฆ่าในหลวง”

ทั้งหมดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้เป็นบทบาททางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตเมื่อ ๖๑ ปีที่ ผ่านมา หากท่านผู้อ่านสังเกตุให้ดีและนำมาเทียบเคียงกับบทบาททางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ายังคงเส้นคงวาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยน แปลงทั้งพฤติกรรมและหลักความคิด ตลอดจนวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมือง การต่อสู้เพื่อแข่งขันในเวทีการเมืองด้วยการเลือกตั้งตามกฏกติกา ที่มีกฏหมายรองรับนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ย่อมไม่เล่นด้วยอย่างเด็ดขาด ถ้าหากไม่มีความมั่นใจอย่างเปี่ยมล้น นั่นเพราะว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาไม่เคยมีผลงานอันเป็นรูปธรรมให้ได้เห็นเป็นที่จับต้องได้ แม้โอกาสจะมีบ้างในบางครั้งในการจัดตั้งรัฐบาลและมีอำนาจบริหารบ้านเมือง แต่เวลาส่วนใหญ่กลับใช้ไปกับการแก่งแย่งตำแหน่งและส่วนแบ่งแห่งผลประโยชน์และอำนาจ เมื่อเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาภายในพรรค จึงไม่มีเวลาที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญให้แก่สังคม

พรรคประชาธิปัตย์มีความเชี่ยวชาญและชำนาญยิ่งกับการขึ้นสู่อำนาจบนเส้นทางลัด การอิงอำนาจ นอกระบบเพื่อพลพรรคของตัวเองจะได้มีโอกาสหาผลประโยชน์จากส่วนแบ่งอำนาจ ตามแต่ผู้มีอำนาจบารมีนอกระบบจะจัดสรรให้ก็ดี การยอมเป็นทาสรับใช้เผด็จการทหารก็ดี ตลอดจนการทำลายล้างคนดีที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองด้วยวิธีการที่สกปรกอย่างปราศจากคุณธรรม ล้วนเป็นวิธีการอันชั่วร้ายที่พลพรรคประชาธิปัตย์ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกครั้งเมื่อเจอคู่แข่งขันทางการเมืองที่โดดเด่นและมีความสามารถสูงในการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง

ผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าหากท่านผู้อ่านได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอผ่านบทความชิ้นนี้ก็จะพบเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ขบวนการโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้นมีวิธีการในการเข่นฆ่าทำลายล้างเหมือนกับที่ท่านปรีดีได้รับการกระทำในอดีตอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ในอดีตที่ท่านปรีดีถูกพิฆาตด้วยข้อกล่าวหาว่า “ฆ่าในหลวง” ในขณะที่คุณทักษิณถูกยัดเยียดในข้อหาโดยเริ่มต้นจากหมิ่นเบื้องสูง แล้วก็คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา จนกระทั่งอยากตั้งตัวเป็นประธานาธิบดีดังที่นายปราโมทย์ นาครทรรพ คอลัมนิสผู้ขายจิตวิญญาณให้กับคนชั่วช้าอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการด้วยการเขียนผ่านบทความในเรื่องปฏิณญาฟินแลนด์ แล้วก็มีนักวิชาการดาหน้าออกมาขานรับสนับสนุนในทุกข้อกล่าวหา แล้วก็มีคณะนายทหารโจรออกมาหนุนเสริม จนในที่สุดก็ยังไม่สามารถที่จะโค่นล้มได้ แผนรองรับอันเป็นขบวนท่าไม้ตายของปีศาจเฒ่าจึงได้ถูกหยิบขึ้นมาใช้ในที่สุด นั่นก็คือทำการรัฐประหารยึดอำนาจ

ความมุ่งมั่นที่จะทำลายล้างคุณทักษิณให้จงได้ โดยตั้งธงล่วงหน้าไว้ว่าจะต้องได้รับชัยชนะ ด้วย เชื่อมั่นในแผนการที่ได้วางเอาไว้อย่างรอบคอบนั้นมีหลายชั้นมารองรับ มีหลายกลุ่มขบวนการเข้าร่วมในการโค่นล้มอย่างอบอุ่น มีหลากหลายกระบวนท่าที่จะหยิบขึ้นมาฟาดฟันได้ แต่ด้วยหลักคิดที่ เข้าข้างตัวเองโดยลืมนึกถึงหลักแห่งความเป็นจริงที่ว่า ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปสรรพสิ่งย่อมเปลี่ยน แปลง เคยคิดว่าประชาชนคนไทยนั้นโง่และหลอกง่าย แต่ลืมไปว่าการศึกษาสมัยใหม่ในปัจจุบันได้ ก้าวหน้าไปไกลแล้ว คนส่วนใหญ่มีความรู้และปัญญา แล้วที่หลงผิดทิศคิดผิดทางนั่นก็คือ คิดว่าการปิดกั้นสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี หรือวิทยุจะเพียงพอที่จะทำให้ผู้คนหูหนวกตาบอดได้ดั่งในอดีต แต่บนความเป็นจริงการสื่อสารสมัยใหม่โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนท คงเป็นเรื่องที่คนตกรุ่นหลงยุคแต่อยากมีอำนาจไม่เข้าใจอย่างแน่นอน และที่สำคัญที่สุดก็คือ สังคมสมัยใหม่มีความต้อง การผู้นำที่มีความรู้ มีความคิดใหม่ การบริหารจัดการสมัยใหม่ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงอย่างที่ผู้เฒ่าทั้งหลายกำลังเพ้อเจ้ออยู่ในเวลานี้ ดังนั้นคุณทักษิณจึงไม่มีวันตายอย่างแน่นอน เพราะมีคุณสมบัติตามที่คนส่วนใหญ่ต้องการทุกประการ

ผมอยากขอให้พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ได้แสดงความกล้าหาญด้วยการนำเหล่าทหารโจรทั้งหลายที่ ได้ล่วงเกินด้วยการปล้นชิงอำนาจพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตรในขณะที่ท่านไปราชการยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่มีศักดิ์ศรี ดังชาวบ้านเขาเรียกกันว่าหมาลอบกัด ควรได้ถือโอกาสอันดีที่มีการทำบุญประเทศอยู่ในเวลานี้ ทำพิธีปูผ้าขาวกราบขอขมา แล้วเรียนเชิญท่านกลับมากู้ชาติบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ปรกติตามคำเรียกร้องของพี่น้องคนไทยเกือบทุกคนทั้งประเทศ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมขอคงไม่มากมายอะไรจนไม่อาจรับฟังได้นะครับ เพราะกราบโจรยังทำได้ จะกราบคุณทักษิณอีกสักหนเพื่อชาติจะเป็นไรไป

No comments:

Post a Comment