Tuesday, April 27, 2010

ผู้ก่อการร้าย แปลว่า ฆ่าได้ เหมือนอย่างที่เคยฆ่า ปรากฏการณ์ “ไพร่ทาสเฉื่อยงานกับข้าราชการเกียร์ว่าง"

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มองการเมืองไทย ทะลุมาตั้งแต่พ.ศ. 2475 เขามองปรากฎการณ์ของ ไพร่ อำมาตย์ และทหาร ได้ลึกกว่าใคร "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ ดร. ชาญวิทย์ ในบรรยากาศอึมครึมก่อนมีพายุใหญ่

@แนวโน้มเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ภาพรวมคิดว่า น่าจะจบด้วย 1) นายกฯยุบสภาหรือลาออก 2) นองเลือดแล้ว หลังจากนั้น ขบวนการเสื้อแดงมุดลงดินกับขึ้นไปในโลกไซเบอร์ และ 3) เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยมองเรื่อง “กฤษดาภินิหาร” อย่างเช่นหนังสือที่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ “กฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้ของกรมพระนเรศ” (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเศรวรวรฤทธิ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร พระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช เจ้าอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารนำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสานล้มล้างการปกครองของรัฐบาล อันเป็นเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476)


@ เท่ากับว่าพัฒนาการประชาธิปไตยไม่คืบหน้าหรือเปล่า


มันอยู่ที่คนกลุ่มไหนเป็นคนมอง บางคนอาจหมดหวังกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่บางคนก็อาจจะมองว่ามันกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าถึงจุดที่ดีกว่าเดิม เป็นที่มาของประโยคประเภทที่ว่า “กลียุคเป็นบ่อเกิดแห่งเสรีภาพ”


@ ฝ่ายไหนได้เปรียบเสียเปรียบกว่ากัน


มองยากว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะบางคนก็คิดว่าถึงทางตัน แต่ความจริงแล้วสังคมก็เดินของมันไป


@ ขณะนี้รัฐบาลเตรียมจัดการกับผู้ก่อการร้าย

ผู้ก่อการร้ายเป็นวาทกรรมที่ซับซ้อนมากๆ ภาษาไทยแปลมาจากคำในสมัยยุค sixty-seventy (ยุคค.ศ.1960 ค.ศ. 1970) ในสมัยสงครามเย็น สมัยความขัดแย้งของลัทธิ เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างมาต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็น insurgency หรือ insurgent ซึ่งหมายถึงคน ผู้ก่อการร้ายสมัยสงครามอินโดจีนสมัยไทยร่วมเป็นพันธมิตรกับอเมริกา


แต่คำว่าผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันน่าจะหมายถึง terrorist หมายถึงคนที่เป็นผู้ก่อการร้าย กับคำว่า terror อันนี้เป็นศัพท์ที่มาจากความขัดแย้งของโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม มาจากเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด ใน ค.ศ. 2001 แปลว่าเป็นเรื่องระดับสากลมากๆ ฉะนั้น การที่รัฐบาลใช้คำนี้เป็นการใช้คำที่กำกวมและเกินเลยต่อสภาพของความเป็นจริง เป็นการใช้ในความหมายแบบเก่าครึ่งหนึ่ง หมายถึงผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีนัยยะครอบคลุมคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายเก่าในยุคหลัง 6ตุลา 2519 และใช้ในความหมายที่คลุมไปถึงการก่อการร้ายในปัจจุบันคือเรื่อของการถล่มตึกเวิลด์เทรด เรื่องของประเทศอิรัก เรื่องบินลาเดน เรื่องของอัฟกานิสถาน รวมทั้งนัยยะของเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ในด้านหนึ่งเป็นการยกสถานะความขัดแย้งจากถนนราชดำเนิน หรือแยกราชประสงค์ให้เป็นระดับอินเตอร์ เพื่อให้ประเทศต่างๆ ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมันอาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ แต่ผมคิดว่าปัญหาของเรามัน local มากกว่า มันเป็นเรื่องท้องถิ่นมากๆ ฝ่ายแดงมีปลาร้า โคมลอย ทอดแห ไม้ไผ่ปลายแหลม บั้งไฟ แม้เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. จะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการปะทะกันนั้นมีอาวุธร้ายแรง แต่โดยภาพรวมของฝ่ายแดงมันก็ดู local อยู่ดี

@ เชื่อว่าใช้คำแบบนี้เพื่อพร้อมปราบปราม


แน่นอน เพราะคำว่าผู้ก่อการร้าย แปลว่า ฆ่าได้ เหมือนอย่างที่เคยฆ่ามาแล้ว สร้างความชอบธรรมให้การประหัตประหาร


@ ปัญหาของการใช้คำกำกวม


วาทกรรมของรัฐบาลอาจไม่ได้ผล เพราะคำเช่นนี้เคยใช้ในสมัย 14 ตุลา 2516 พฤษภา 2535 ก็ไม่ได้ผล ใช้คำว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ บ่อนทำลายประเทศชาติ ไม่สามารถทำให้คนที่อยู่ตรงกลาง(ระหว่างคนที่พร้อมจะเชื่อรัฐบาลกับคนที่ไม่เชื่อรัฐบาล) เชื่อรัฐบาลขึ้นมาได้ ซึ่งคนพวกนี้มีจำนวนมาก และการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น ไทยรัฐหน้า 3 และการ์ตูนการเมือง เกาเหลาชามเล็กในมติชน ก็เอามาล้อเลียนเป็นเรื่องตลก ทำให้ความขลังของอำนาจ(รัฐบาล)พังพินาศลงถูกหัวเราะ แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า การปราบปรามจะสำเร็จไหม หรือจะเป็นบูมเบอแรงเหมือนวันที่ 10 เมษา หรือไม่ เช่น แม่ทัพถูกเด็ด อาวุธยุทธโธปกรณ์ถูกทำลาย

@ หลังวันที่ 10 เม.ย. ก็ไม่ได้สะเทือนอำนาจของรัฐบาล

-
ผมคิดว่าสะเทือน มันถึงได้คาราคาซังไง จากวันที่ 10 เมษา มาถึงวันนี้ กว่า 10 วัน ไม่มีอะไรคืบหน้า มันเหมือนกับเป็น “เกมรอ” เป็น “waiting game” เกมมันลากยาวมากเพราะสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีใครมีความได้เปรียบที่แท้จริงแต่มันยันกันอยู่หมดเลย ไม่งั้นมันจบเร็วๆไปแล้ว แต่ความจริงคือมันยังยันกันอยู่


@ การที่รัฐบาลยังอยู่ในตำแหน่ง ไม่ได้แปลว่าชนะ

ผมกลับมองว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ในฐานะลำบากมาก กลืนไม่เข้าคายไม่ออกหาทางจบเกมไม่ได้ ณ เวลานี้นะครับ แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ณ เวลาที่ฝุ่นตลบ อีก 1 ชั่วโมงสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปก็ได้ พูดยากมาก

@ การชุมนุมตึงเครียดมีความหวาดระแวง


ม็อบยังไม่ชนะหรอกครับ แต่การชุมนุมมาเดือนกว่านี้ ฝ่ายเสื้อแดงเก็บคะแนนมาตลอด เพียงแต่ถูกตัดแขนขา เพราะต้องต่อสู้กับผู้กุมอำนาจรัฐประกอบด้วยตำรวจ ทหาร เผลอๆ มีตุลาการอีกด้วย แถมยังมีกองกำลังเสริม(ฝ่ายรัฐบาล)อยู่เป็นระยะๆ แต่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐและผู้สนับสนุนก็ยังไม่สามารถเผด็จศึกได้


@ ปัญหาทหารตำรวจเกียร์ว่าง เพราะไม่แน่ใจว่าอำนาจจะพลิกไปทางไหน


ผมว่าในยุคที่การเมืองเสื้อเหลืองออกมาต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีข้าราชการเกียร์ว่าง แต่มันไม่ชัดเจนเท่าคราวนี้ ที่เสื้อแดงต่อต้านรัฐบาลแล้วกลไกของรัฐนั้นกลายเป็นง่อยไปเลย เป็นปรากฏการณ์ที่แปลก เพราะปกติกลไกรัฐต้องทำตามเจ้านายสั่ง แต่คราวนี้เจ้านายไม่สามารถจะสั่งได้ เหมือนกับ ผู้นำทหารจำนวนหนึ่งอาจจะคิดว่าเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลนายสมัคร รัฐบาลนายสมชายสั่ง เขาก็ไมทำ ส่วนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์สั่ง เขาก็ไม่อยากทำ แต่ถ้าคุณมีambition สูง(ความทะเยอทะยาน) อยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ถ้าทหารยึดอำนาจแล้วก็ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วจะไปยึดอำนาจทำไม(หัวเราะ) ยึดอำนาจแล้วก็ซวยถูกด่าอีกต่างหาก รัฐบาลมาก็เปลี่ยนตัว แต่สถาบันตำรวจทหารนั้น มันขึ้นอยู่กับผู้คุมสถาบันทหารตำรวจจะเอาตัวเข้าแลกหรือเปล่า


ในสมัยอยุธยา มีไพร่ ใช้วิธีการต่อสู้โดยการ “เฉื่อยงาน” เช่นว่า ไพร่ถูกเกณฑ์มาขุดคลอง ถางหญ้า สร้างกำแพง มันไม่ชอบ มันไม่อยากทำ มันก็เฉื่อยงาน มันทำให้งานช้า งานไม่สำเร็จ การเฉื่อยงานเป็นเรื่องปกติในสังคมโบราณ ซึ่งเกิดในระดับล่างของคนที่เป็นไพร่ เป็นทาส แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกลับไปเกิดในกลุ่มข้าราชการของรัฐ “เกียร์ว่าง” ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ ก็คือ “เฉื่อยงาน” ซึ่งเป็นคำศัพท์สมัยเก่า

ตอนที่รัฐบาลนายสมัคร-นายสมชาย หรือรัฐบาลปัจจุบันสั่งให้ ผบ.ทบ.ทำ...ก็ไม่ทำ เป็นปรากฏการณ์ของสังคมไทยที่ข้าราชการเฉื่อยงานตามแบบของพวกไพร่ในสมัยอยุธยา


ในพงศาวดารอยุธยา หรือในพงศาวดารจีน ก็ปรากฏเหตุการณ์แบบนี้ กลุ่มต่างๆ ก็ช่วงชิงความได้เปรียบ เหมือนว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดช่องว่างทางอำนาจ หรืออีกด้านหนึ่งคือ “ไม่มีใครมีอำนาจอย่างแท้จริงที่เห็นได้ชัด”


@ความแตกแยกในกองทัพ


สิ่งที่น่าเสียดาย คือในวงวิชาการไม่มีนักวิชาการที่รู้เรื่องกองทัพการทหาร ทำให้ไม่สามารถอธิบายการเมืองไทยได้ อาจจะมีคนเดียวคือ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เรื่องกองทัพ หรืออาจจะมีนักข่าวที่รู้อย่างคุณวาสนา นาน่วม แต่สิ่งที่นักรัฐศาสตร์ไทย “กลวง” คือ ไม่รู้เรื่องว่าใครเป็นใครในกองทัพ ไม่มีการทำงานวิจัยจริงจัง คณะรัฐศาสตร์จุฬา-ธรรมศาสตร์ล้าหลัง เพราะการจะเข้าใจการเมืองประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ต้องเข้าใจว่าสถาบันองค์กรเหล่านั้นเป็นอย่างไร งานวิจัยจริงจังมีน้อยมาก ทำให้นักวิชาการนักรัฐศาสตร์ใช้แต่คอมมอนเซนส์


กรณีที่เกิดขึ้นกับนายทหารระดับสูง(ถูกทำร้ายด้วยอาวุธ) ในวันที่ 10 เม.ย. เป็นเรื่องใหญ่มาก ผมไม่คิดว่าจะมีปรากฏการณ์อันนี้กลางกรุงด้วยซ้ำไป เห็นแล้วเราก็มึนงง ถ้าเราดูจากสื่อกระแสหลัก ทีวี โทรทัศน์ เราจะไม่มีทางเข้าใจ เรื่องที่เกิดขึ้นกับระดับพันเอก เป็นเรื่องที่น่าตกใจ อีกด้านเป็นสัญญาณให้เราเห็นว่า ความขัดแย้งต้องสูงมาก เรื่องแบบนี้พลเรือนโดยทั่วๆ ไป ทำไม่ได้หรอก เพราะเป็นเรื่องเทคนิค การสงคราม อาวุธยุทโธปกรณ์ระดับสูง เหตุการณ์มันเกินเลยจินตนาการของเรา ว่าจะเป็นอย่างงี้ แต่มันก็เป็น ฉะนั้น สิ่งที่คนจำนวนมากพูดถึงสงครามกลางเมือง พูดถึงกาลียุค ก็อาจจะเป็นไปได้ ฉะนั้น เป็นสัญญาณหนึ่ง ลางบอกเหตุ


@ กรณีอดีต 2 นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แถลงแนวทาง “ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมเพื่อคลี่คลายปัญหา”


ผมไม่ค่อยคิดว่าเป็นปัญหานั้น เพราะถ้าเรามองกลับไปมีตัวอย่างที่เห็นชัด ทำไม “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” (ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516) เคลื่อนขบวนจากพระบรมรูปทรงม้าไปสวนจิตรลดา ในประวัติของ 14 ตุลาฯ ใช้คำว่า “เพื่อไปขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง” แสดงว่า คุณชวลิต(พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) กับคุณสมชาย นี่ทำตามตามแบบ “เสกสรรค์” ปี 2516 เพื่อขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง ผมก็เลยไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ที่ 2 อดีตนายกฯ ไปขอเข้าเฝ้าฯ


@ ไม่คิดว่าขัดแย้งในแง่การอธิบายความคิดทางการเมืองเพราะฝ่ายนี้เคยแสดงความไม่เห็นด้วยเมื่อครั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอพระราชทานนายกฯตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7


ไม่หรอกครับ เพราะภาษาไทยมีคำที่ผมชอบและไม่รู้จะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร คำที่ว่า “คนละเรื่องเดียวกัน”


@ เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยซับซ้อนมาก


ซับซ้อนครับ ถึงจบได้ยาก ลงตัวได้ยาก ต่อให้ยุบสภาก็ไม่จบได้ง่ายๆ ต่อให้ลาออกก็ไม่จบได้ง่ายๆ ต่อให้นองเลือดก็ไม่จบง่ายๆ เกมนี้ยาวมากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ยาวมากกินเวลาเป็น100ปี ตัวอย่างที่สำคัญคือ ปี ค.ศ. 1776 เกิดการปฏิวัติอเมริกา ให้เป็น democracy เพื่อต่อสู้กับ monarchy ของอังกฤษ จบด้วยdemocracy American ชนะ เมื่อแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยเกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ กลายเป็นกระแสใหญ่ระบาดไปทั่วโลก ถ้าจะเข้าใจปรากฏการณ์สังคมไทยต้องเข้าใจ “ชาติกับชาตินิยม” “ชาติกับประชาธิปไตย” เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเก่าไปสู่สังคมสมัยใหม่ จาก traditional society ไปสู่ modern society ถ้าปรับตัวได้ก็จะทำให้ทั้ง 2 อย่างกลมกลืนไปอย่างประเทศอังกฤษ แต่ขณะที่ในประเทศฝรั่งเศสมันแตกหัก ตรงนี้สำคัญเพราะเมืองไทยกำลังพิสูจน์ว่าเราจะสร้างสังคมใหม่โดยมีประเพณีเก่าไปด้วยกันได้หรือไม่ ซึ่งยุ่งยากซับซ้อน


@ ถ้าเกิดเหตุคล้ายๆ 6ตุลาฯ หรือพฤษภา35 เราจะย่ำอยู่กับที่แบบนั้นไหม


ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว เวลาเราพูดถึง พฤษภา35 ตอนนั้นอินเตอร์เนทก็ยังไม่แพร่หลายเลย เพราะยุคพฤษภา ก็มีแต่กล้องวีดีโอกับแฟกซ์ ส่วนโทรศัพท์มือถือก็ราคาเป็นแสนบาท คนที่มีโทรศัพท์มือถือก็มีไม่กี่คน แต่วันนี้คนที่มาจากต่างจังหวัดก็มีมือถือใช้แล้ว ณ ปัจจุบัน เราต้องคิดถึงอินเตอร์เนท โทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซต์ ส่วน 14 ตุลาฯ กับ 6 ตุลาฯ นักศึกษาที่ต่อสู้ ยังต้องใช้กระป๋องนมผูกเชือกส่งข้อมูลให้กันจากตึก อมธ.(องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แต่เดี๋ยวนี้มีตัวเปลี่ยนโลก คือ 1) อินเตอร์เนท 2) โทรศัพท์มือถือและ 3) มอเตอร์ไซต์ เดี๋ยวนี้ไม่ใช้คำว่า “เดินขบวน” แต่ใช้คำว่า “เคลื่อนขบวน” ไปแป๊บเดี๋ยวถึง ราบ11 ไปแป๊บเดียวถึงราชประสงค์ ส่วนผู้ดีมีสกุลอยากดูการชุมนุมก็ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสไป โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ


@ แม้จะมีสงครามคลิป แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมที่ทุกฝ่ายต่างช่วงชิงอธิบายว่าอะไรคือความจริง


การช่วงชิงอธิบายความจริง ในโลกปัจจุบันนี้ รัฐและผู้คุมอำนาจรัฐ ไม่สามารถผูกขาดข้อมูลได้อีกต่อไปแล้ว


@ มีสติ๊กเกอร์ที่ยังไม่รู้ว่าใครทำข้อความ “รัฐไทยใหม่” “ประธานาธิบดีทักษิณ”


มันอาจจะใช้สติ๊กเกอร์แบบใหม่ แต่ message ข้อความ ยังเป็นแบบเก่า เหมือนจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดี ฆ่าในหลวง” ก็แบบเดียวกัน คนที่เชื่อก็เชื่ออยู่แล้ว แต่คนไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ ตอนนี้จึงอยู่ที่การวัดดวง!!!
การผูกขาดข้อมูลทำไม่ได้อีกแล้ว ถ้า elite ไม่สามารถเจรจาตกลงเกี้ยเซี๊ยกันได้ ก็จะทำให้เหตุการณ์ไปไกลถึงปราบปรามนองเลือด แล้วหลังจากนั้น เสื้อแดงส่วนหนึ่งก็จะลงใต้ดินหรือขึ้นไปในโลกไซเบอร์ รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพอย่างจีน ปักกิ่งยังไม่สามารถปิดการใช้อินเตอร์เนทได้เลย ถ้ากลายเป็น “นักรบในไซเบอร์สเปซ” จะน่ากลัว เพราะไม่จำเป็นต้องจับปืนจับอาวุธ แต่อยู่ที่ข้อมูลข่าวสารสร้างวาทกรรมให้คนเชื่ออะไร ผมว่าสำคัญมาก


@ สรุปแล้วหากคุณทักษิณสามารถเกี้ยเซี๊ยกับอีกฝ่ายหนึ่ง จะถือว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันแน่

โดยปกติคนที่อยู่ชั้นนำของสังคม กลุ่ม elite มักจะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันประสานผลประโยชน์กันแบ่งกันกิน แต่ถ้าฝ่ายใดจะเอาหมดมันก็ทะเลาะกัน เอาเข้าจริงตรงนี้ elite มันฟัดกันทะเลาะกัน มันรบกันก็ไปหาพวก โดยที่พวกหนึ่งก็ไปหาพวกใส่เสื้อสีเหลือง พวกหนึ่งไปหาเสื้อสีแดง อีกพวกไปหาพวกเสื้อสีชมพู ถ้าไม่ประนีประนอมเกี้ยเซี๊ย ก็ต้องรบกัน โดยธรรมชาติ elite มักจะยอมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกันและกัน


@ ถ้าอย่างงั้นมวลชนที่ถูกปลุกอารมณ์มาเสียขนาดนี้ ก็เป็นธรรมชาติที่ต้องผิดหวัง

-
ก็เป็นธรรมชาติ เพราะเขาต้องหาพวก แต่ละพวกก็ต้องหาพวก ทีนี้ถ้าหาพวกแล้วสามารถต่อรองกันได้ ก็จบ แต่ ณ จุดนี้ ดูเหมือนกับเขาไม่อยากต่อรองเพราะต่างฝ่ายต่างเอาจุดตัวเอง... การเมืองมันคล้ายๆกับการช๊อปปิ้ง มีคนซื้อ-คนขาย ถ้ามันอยากซื้อจริงๆ มันก็ต้องยอมจ่าย หรือคนอยากขายก็ต้องยอมลดราคา แต่ถ้าจะเอาที่ตัวเองตั้งราคาเท่านั้น ในที่สุดก็ตกลงกันไม่ได้ แต่สิ่งแตกต่างกันคือในการเมืองมันไม่ใช่แค่คนสองคน เพราะมันกลายเป็นคนอื่นเดือดร้อนอีกต่างหาก


@ มวลชนบางส่วนอยากจะ “แตกหัก” แต่ถ้าชนชั้นนำเกี้ยเซี๊ยกันได้ ก็กลายเป็น “อกหัก”ไหม


ในการเมือง มีคน “อกหัก” อยู่เรื่อยๆ(หัวเราะ) ผมเห็นเพื่อนนักวิชาการของผมก็อกหักกันเยอะแยะ ตั้งแต่ 14 ตุลา 6ตุลา พฤษภาฯ อกหักกันเยอะเลย มีคำถามว่า เอ๊ะ! ทำไมคนนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการโน้นกรรมการนี่ คนนี้ได้เป็นบอร์ดไอ้โน่นบอร์ดไอ้นี่ มีนักวิชาการในหมู่ของผม ผมอยากให้เขียนลงไปด้วย มันตกรถไฟเยอะเลยครับ พยายามขึ้นรถไฟมันก็ตกรถไฟ น่าสงสารมาก บางคนตกรถไฟตลอดเพราะขึ้นไม่ทัน หรือรถไฟมันมาไม่ถึงหน้าบ้าน ดอกเตอร์ทั้งหลายตกรถไฟไปเยอะเลย ไม่ได้(ตำแหน่ง)อะไรตั้งแต่ 14 ตุลาฯจนถึง 19 กันยาฯ กูก็ไม่ได้อีก..โอ้...น่าสงสาร(หัวเราะ) บางคนแก่จะตายก็ยังไม่ยอมเลิก น่าสงสารนะคนที่มันทะเลาะกัน เผลอๆ อายุ70 up เป็นขิงแก่ทั้งนั้น


@ อาจารย์มองทุกเรื่องแบบปลงได้ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไป


ผมอายุหกสิบกว่าปีแล้ว อะไรที่ผมอยากทำ ผมก็ทำมาหมดแล้ว ผมไม่ต้องแคร์อะไรอีกแล้ว สิ่งที่ผมอยากเรียกร้อง ผมก็ได้เรียกร้องไปแล้ว เหมือนครั้งนี้ถ้านายกฯอภิสิทธิ์ ไม่ยุบสภา ต่อไปเขาอาจจะมาคิดย้อนหลังว่านี่เป็นความผิดพลาด เมื่อครั้งที่ผมลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็ไม่ได้คิดว่าผมแพ้ ผมกลับคิดว่าการตัดสินใจนั้นถูกต้องแล้ว ไม่ได้รู้สึกด้อยกว่าคนอื่นและรู้สึกเหนือกว่าบางคนด้วยซ้ำ และผมสามารถมองตาทุกคนได้โดยไม่ต้องหลบตา


@ การที่ผู้ชุมนุมยึดราชประสงค์ ขณะนี้


เหมือนไปกุมคอหอยลูกกระเดือก ผมก็ไม่นึกมาก่อน ว่าเขาจะไปยึดราชประสงค์ ผมเคยอยู่ซอยสารสินแต่ก่อนเป็นชานเมือง ตั้งแต่เล็กจนโตก่อนไปซื้อบ้านของตัวเอง... แต่เมื่อ 2 คืนก่อน ผมกลับไปบ้านที่ซอยสารสิน พบว่าเต็มไปด้วย คนอีสานไปตากผ้าโสร่ง กางเกงใน แถวๆบ้านเรา เออ ตรงนี้ก็แปลก หน้าสยามพารากอน ก็มีนุ่งโสร่งไปอาบน้ำ เอากางเกงในไปตาก เป็นภาพที่ประหลาดมาก ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น ในเมืองไทยของเรา ในกรุงเทพฯ อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น ส่วนอะไรที่เราเคยได้เห็นมาตลอดชั่วชีวิต ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป


Saturday, April 24, 2010

The Economist: เสื้อเปื้อนเลือดในเมืองนางฟ้า

เหตุการณ์ความสูญเสียจากเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนที่มีผู้เสียชีวิต 23 คนเกิดขึ้นบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งคนเสื้อแดงก็ยังคงปักหลักยึดพื้นที่ช็อปปิ้งแห่งสำคัญอยู่แม้ว่าทหารจะขู่ว่าจะยิงพวกเขาก็ตาม ในขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เขายังคงเปิดโอกาสสำหรับการเจรจา และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา บอกว่า เขาต้องการการแก้ปัญหาทางการเมืองและจะไม่มีแผนในการเข้าสลายการชุมนุมที่ทำให้เกิดการปะทะอีก

ในดินแดนแห่งรอยยิ้มนี้ คนไทยชอบชี้ให้คนอื่นเห็นถึงธรรมชาติอันสันติของตัวเองอยู่เสมอ แต่คำถามคือ ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อไป เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่?

ปัจจัย 2 ประการที่ทำให้ความรุนแรงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หนึ่ง ความรุนแรงฝังแน่นอยู่ในตัวคนไทย แต่คนไทยก็ไม่ใส่ใจยอมรับมัน สอง เหล่าชนชั้นนำและส่วนที่หนุนหลังนายอภิสิทธิ์เข้าใจผิดคนเสื้อแดง โดยชนชั้นนำเห็นว่า คนเสื้อแดงเป็นชนชั้นล่างที่ยังไม่ได้ชำระล้างความสกปรก ตกอยู่ภายใต้การชักจูงของทักษิณ ชินวัตรแต่ในความเป็นจริง ผู้ประท้วงมีความจริงจังและเอาเป็นเอาตายกับการท้าทายชนชั้นนำที่นำพาประเทศอย่างยิ่ง

วามรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนในครั้งนี้ก็คือ การยิงเมื่อวันที่ 10 เมษายน ซึ่งมีทหาร 5 คนและผู้ประท้วงอีก 18 คนเสียชีวิต มันได้ดึงภาพความน่ากลัวของการเข่นฆ่าคนบริสุทธิ์โดยทหารซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2516 2519 และ 2535

แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ในครั้งนี้ทหารได้แสดงให้เห็นถึงความอดทนอยู่บ้าง และมันเป็นครั้งแรกที่ทหารใช้วิธีการควบคุมฝูงชนแบบทันสมัยขึ้นจากในอดีต เช่น การฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง แต่ฝูงชนปฏิเสธที่จะสลายการชุมนุม แต่ที่เลวร้ายที่สุด เมื่อกองทัพติดอยู่บนถนนที่เต็มไปด้วยพลเรือนหลังช่วงหัวค่ำ ผู้บัญชาการที่ฉลาดย่อมรู้ว่าเขาเป็นส่วนผสมของความหายนะ ทหารยิงเข้าใส่ฝูงชนเพื่อป้องกันตนเอง (พวกเขาพูด) เพื่อสู้กับ “ผู้ก่อการร้าย” ติดอาวุธ จากนั้นทหารต้องหนีเอาชีวิตรอด ละทิ้งการตั้งแถวแห่งเหรียญตราอาชีพทหาร การถูกทำลายศักศรีครั้งนี้เชื่อได้ว่าทหารระดับรองต้องการแก้แค้น

ความรุนแรงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยการทหารอย่างเดียว ประเทศไทยสามารถเป็นประเทศแห่งความชั่วร้าย อาชญากรรม และการใช้ความยุติธรรมอย่างไม่รอบคอบซึ่งมีให้เห็นมากมาย มือปืนหาง่าย ทหารนอกแถวที่เป็นผู้มีอิทธิพลมีอยู่ดาษดื่น ภายใต้รัฐบาลทักษิณเกิดการวิสามัญฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตนับพันคนของผู้ต้องสงสัยเรื่องยาเสพติดและอาชญากรรมอื่นๆ

ในช่วงเริ่มต้น คนเสื้อแดงอาจมีภาพของความเป็นผู้ร้ายอยู่บ้าง แต่ตอนนี้คนเสื้อแดงส่วนใหญ่มีระเบียบวินัย พวกเขาตระหนักว่าภาพพจน์มีความหมายมาก ในขณะที่ยังมีคนส่วนน้อยถือไม้ยาวๆ มีด และขวดน้ำมัน ทันใดนั้น วันที่ 10 เมษายน “ชายชุดดำ” ลึกลับก้าวเข้ามาในการต่อสู้ โดยเก็บผู้บัญชาการด้วยปืนไรเฟิลแรงสูง

คนไทยบางส่วนโทษว่าเป็นพวก “มือที่สาม” ต้องการกวนความยุ่งยากนี้ให้ขุ่นครั่กมากขึ้น บางส่วนกล่าวอ้างว่าคนพวกนั้นถูกทักษิณจ้างมา หรือบางทีอาจเป็นพวกเลือดร้อนเรียกกำลังเสริมเข้ามาสู้กับกองทัพแล้วก็ทำสำเร็จ ส่วนคำอธิบายของฝ่ายเสื้อแดงนั้น ทหารเป็นผู้ร้ายจากการใช้กระสุนจริงยิงประชาชนที่ไม่มีอาวุธ ในตอนนี้การเคลื่อนไหวมีผู้เสียสละตนเองแล้ว ใบหน้าของผู้เสียชีวิตปรากฎบนโปสเตอร์ และมีบันทึกวีดีโอของผู้เสียชีวิต

ฝ่ายกองทัพและฝ่ายผู้ชุมนุมต่างก็มีการกล่าวโทษกันทั้งคู่ และในตอนนี้ หลังจากหลายเดือนผ่านไปกลุ่มเสื้อเหลือง หรือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลับมาแล้ว คนเหล่านี้เป็นฝ่ายสนับสนุนชนชั้นนำที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีคนส่วนน้อยเป็นการ์ดและเรียกตัวเองว่าเป็นนักรบ ครั้งหนึ่งพวกเขาใช้ปืนและระเบิดกับตำรวจและสะสมไม้กอล์ฟไว้ใช้เป็นอาวุธ

วันที่ 18 เมษายน แกนนำพันธมิตรเรียกร้องให้ประกาศกฎอัยการศึก และให้เวลารัฐบาลหนึ่งสัปดาห์ให้สลายการชุมนุม ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาจะสั่งเรียกระดมคนของเขาให้กลับมาบนท้องถนนอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เชื่อว่าสันติภาพยังมาไม่ถึง

ความหลงละเมออย่างดื้อรั้นของชนชั้นนำทางการเมืองจึงเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้สันติภาพอยู่ห่างไกล ในปี 2006 ชนชั้นนำร่วมกันขับไล่ทักษิณให้พ้นจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหาร ในปี 2008 ขับไล่รัฐบาลที่ภักดีต่อทักษิณ และการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากการกระทำต่างๆ เหล่านั้นเอง

นายอภิสิทธิ์ ชนชั้นนำที่เหมือนกับชนชั้นนำคนอื่นๆ ผู้ที่คับข้องใจกับคนเสื้อแดง เขาตั้งคำถามว่าคนเหล่านี้ซึ่งมาจากส่วนล่างของสังคมถึงยอมให้มหาเศรษฐีพันล้าน (ของประชาชนทั้งหมด) มาเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้น? เขาบอกว่า “ทักษิณ” ไม่ควรพูดไปในทางที่จะสร้างความเกลียดชังระหว่างคนรวยกับคนจน สังคมควรจะอยู่ร่วมกันอย่างปกติ ตราบเท่าที่ประชาชนทุกคนทำงานของตนเอง

การเมืองไทยอาจเป็นประชาธิปไตยที่ปกครองโดยชนชั้นนำผู้กล่าวอ้างถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกัน ตนเองก็สะสมความมั่งคั่งและใช้อภิสิทธิ์มาโดยตลอด

การต่อสู้ที่หลักแหลมครั้งนี้ มีการใช้คำที่มีความหมายดูถูกเหยียดหยามตัวเอง คนเสื้อแดงเรียกตัวเองว่า “ไพร่” หรือก็คือ “สามัญชน” คล้ายๆ กับที่คนผิวดำอเมริกันถูกทำให้เป็นคนไม่มีสิทธิมีเสียง กลับมาใช้คำที่ดูถูกตัวเองว่า “นิกเกอร์”

แต่ในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีประชาชนจำนวนมากมายที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอย่างสุดขั้ว และก็ไม่มีประชาชนจำนวนมากมายนักที่ยังไม่ได้ชำระล้างความสกปรกอย่างที่กลชนชั้นนำคิด ชาวบ้านเสื้อแดงธรรมดาๆ บางส่วนจบการศึกษาระดับมัธยม มีรถปิ๊กอัพ และมีความคิดที่มีเหตุผลในการตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง

แม้ว่านโยบายของทักษิณ เช่น หลักประกันสุขภาพทั่วหน้า เงินกู้ชุมชน และอื่นๆ ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงเติบโตไปกว่าทักษิณ

สิ่งนี้กลายมาเป็นการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังที่พุ่งสูงขึ้น และความคาดหวังหลักก็คือการผลักให้ชนชั้นนำกลับไปอยู่ในบทบาทที่เคยเป็นซึ่งดูเหมือนยังเป็นหนทางที่ยาวไกล และในวันนี้ดูเหมือนว่ายากจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดบนท้องถนนของกรุงเทพ

นักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน นักสื่อสารมวลชน และNGO พวกเขาไม่ใช่”ฆาตรกร” ไม่ใช่”ทรราชย์” ?

โดย ไกรก้อง อูนอรลัคขณ์
24 เมษายน 2553
ที่มา http://thaienews.blogspot.com/2010/04/ngo_24.html


รสนากับรวันดาโมเดล-รสนา โตสิตระกูล สว.กทม. อดีต NGO ระบุแกนนำเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย มวลชนที่มาชุมนุมเป็นกลุ่มจัดตั้ง ใช้เนปาลโมเดลเปลี่ยนประเทศ มีสคริปต์ที่จะนำไปสู่สงครามประชาชน(ภาพข่าว:ASTVผู้จัดการ)


ณ เวลานี้ นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของระบบอำมาตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศชัดไม่เจรจากับคนเสื้อแดง

เท่ากับรัฐอภิสิทธิ์ ได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะ”ขอพื้นที่คืน”หรือ”ปราบปรามประชาชน”หรือพร้อม”สังหารประชาชนคนเสื้อแดง” นั่นเอง
ใช่หรือไม่ ?

รัฐอภิสิทธิ์ปิดประตูการเจรจา เท่ากับปิดประตูสันติภาพ นั่นคือปิดประตูการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีนั่นเอง .

ใช่หรือไม่? “นักสันติวิธี” “นักสิทธิมนุษยชน” ปากคาบคัมภีร์ทั้งหลาย
…………………….

นายอภิสิทธิ์ บอกกับสื่อมวลชนว่า ยุบสภาไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ต้องฟังองค์กร กลุ่มอื่นๆด้วย ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ใช่หรือไม่ ? สถาบันพระปกเกล้า สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพัฒนองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

ข้ออ้างของนายอภิสิทธิ์ ถึงองค์กร กลุ่มอื่นๆ มิใช่พวกท่านทั้งหลาย ไม่เกี่ยวกันเลย ?
การปฏิรูปประเทศไทย การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นสิ่งเร่งด่วนกว่าการยุบสภา
การปฏิรูปประเทศไทย การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องให้ระบอบอำมาตย์นำพา
การปฏิรูปประเทศไทย การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง นายอภิสิทธิ์เห็นด้วยกับพวกท่าน พวกท่านปราดเปรื่องทางปัญญาโดยแท้
พวกท่านจึงเห็นว่า การยุบสภา ก็จะไม่แก้ไขปัญหาการเมืองแต่อย่างใด การเมืองต้องก้าวพ้นยุบสภา
เป็นเรื่องบังเอิญที่นายอภิสิทธิ์ เห็นด้วยกับพวกท่าน พวกท่านจึงต้องสนับสนุนรัฐอภิสิทธิ์ต่อไป
ใช่ไหม TPBS ?
…………………..

ใช่หรือไม่ ? สมาคมนักข่าวนักสื่อมวลชนทั้งหลาย

สื่อสารมวลชนทั้งหลาย พวกท่านเสนอข่าวสารอย่างเป็นกลาง เป็นอิสระ พวกท่านไม่ได้เข้าข้างรัฐอภิสิทธิ์สักนิดเดียว ผลประโยชน์ของพวกท่านไม่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของรัฐอภิสิทธิ์ พวกท่านเป็นฐานันดรสี่ที่น่าเคารพยิ่งนัก
……………

นักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน นักสื่อสารมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชน
พวกท่านทั้งหลาย ท่านเป็นผู้รักสันติ ผู้รักความยุติธรรม ผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมประจำใจ

ท่านรู้ดีว่า ……

ณ เวลานี้ นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของระบบอำมาตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศชัดไม่เจรจากับคนเสื้อแดง เท่ากับรัฐอภิสิทธิ์ ได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะ”ขอพื้นที่คืน”หรือ”ปราบปรามประชาชน”หรือพร้อม”สังหารประชาชนคนเสื้อแดง” นั่นเอง

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพวกท่าน อย่ามาโยงใยกับพวกท่าน

พวกท่านเป็นกลาง อิสระ ไม่เคยเลยแม้แต่กระเบียดนิ้วเดียวที่สนับสนุนรัฐอภิสิทธิ์
จงจำเอาไว้ จงจำเอาไว้ และจงจำเอาไว้

พวกท่านไม่ใช่คนชั่ว พวกท่านล้วนเป็นคนดี

พวกท่านไม่ใช่ฆาตรกร ไม่ใช่ทรราชย์ฆ่าประชาชนแน่นอน ไชโยๆๆๆๆๆๆ

พวกท่านไม่ใช่คนเลือดเย็น

อำมาตยาธิปไตย จงเจริญ ๆๆๆๆๆๆๆ

ศึกออกซ์ฟอร์ดอำมาตย์ และออกซ์ฟอร์ดแดง ระเบิดขี้นแล้วที่ออกซ์ฟอร์ด

Oxford Amart & Oxford Reds Fight Breaks Out at Oxford
April 22, 2010
by Frank, this blog political journalist

ที่มา – Thai Intelligent News
แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑

-------------------------------------------------------------------

กำลังเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนไทยซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากออกซ์ฟอร์ด – ซึ่งรายชื่อของศิษย์เก่าของอภิสิทธิ์หล่นตกไปอยู่เกือบลำดับที่ ๑๐๐ กว่า – เกือบต่ำสุด

ศิษย์เก่าออกซ์ฟอร์ดคนหนึ่งบอกกับเราว่า คนไทยที่จบจากออกซ์ฟอร์ดกำลังไม่พอใจเป็นอย่างมากที่อภิสิทธิ์ทำตัวเองให้ตกต่ำจนชื่อเสียงตัวเองเกือบจะอยู่อันดับรั้งท้าย และทำให้ศิษย์เก่าออกซ์ฟอร์ดเสื้อแดงตีตื้นมาอยู่อันดับต้นๆแทน

ศิษย์เก่าคนไทยยังกล่าวต่ออีกว่า “ข่าวลือที่ว่า ออกซ์ฟอร์ดอาจขอให้อภิสิทธิ์คืนปริญญา หรือไม่ก็กลับไปเข้ารับการอบรมโปรแกรมเร่งรัดในด้านศีลธรรม และมนุษยธรรม”

การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลังจากสื่อชั้นเยี่ยมของอังกฤษ เช่น ดิอิโคโนมิสต์ และไฟแนนเชียลไทม์ต่างเริ่มเขียนบทความวิจารณ์อภิสิทธิ์ในบทบรรณาธิการ – โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่อาทิตย์มานี้ หลังจากการสั่งปราบผู้ประท้วงเสื้อแดง และเห็นการเสียชีวิตของพวกเสื้อแดงหลายคน

นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งอภิสิทธิ์เคยกล่าวหาว่า ขายชาติไทยให้กับกัมพูชา เป็นหนึ่งในศิษย์เก่าออกซ์ฟอร์ด


Friday, April 23, 2010

เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกตั้งคำถาม...บทเรียนไฟใต้ถึงทางออกที่กรุงเทพฯ

MONDAY, 19 APRIL 2010
http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=295:2010-04-19-04-53-58&catid=10:2009-11-15-11-15-01&Itemid=3

ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงกลางกรุงเทพฯในเหตุการณ์ 10 เมษาฯวิปโยค เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลประกาศยกระดับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงให้เป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ภายใต้บังคับของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็บังคับใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" อยู่แล้ว ทั้งในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล

เป็นการประกาศท่ามกลางคำถามว่า สถานการณ์ ณ วันที่ 7 เม.ย.2553 ฉุกเฉินกว่าการชุมนุมในห้วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาอย่างไร?

แต่สิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้เช่นกันก็คือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินย่อมเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐว่า ความรุนแรงที่ทุกฝ่ายหวั่นกลัวกำลังใกล้เป็นจริงมากขึ้นทุกขณะ

เพราะในมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุขอบเขตอำนาจของกฎหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะใช้กฎหมายความมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อ "...ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน..."

นั่นหมายถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความเข้มข้นกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ก็คือการประกาศเพิ่มดีกรีความรุนแรงโดยฝ่ายรัฐเองที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบว่าทำไปเพื่ออะไร

ยิ่งไปกว่านั้น หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่มีกรณีใดเลยที่ส่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การชุมนุมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมรวม 24 คนในอีก 2 วันถัดมา เพราะถึงวันนี้ก็ยังจับใครไม่ได้เลย หรือการพยายามสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ทว่าสุดท้ายก็เกิดการสูญเสียชีวิตขึ้น แม้แต่ฝ่ายทหารเอง

หรือกระทั่งการออกหมายเรียกให้บุคคล 51 คนที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ารายงานตัว ซึ่งก็มีบางส่วนเพิกเฉย ไม่นำพา และไม่กลัว

แต่รัฐบาลก็ดูจะไม่สนใจ และเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายต่อไป ภายใต้วาทกรรม "ก่อการร้าย" ที่ยิ่งหนุนเสริมให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด

ที่น่าวิตกก็คือ รัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วเกือบ 5 ปีเต็ม คือตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 และต่ออายุทุกๆ 3 เดือนมาแล้ว 19 ครั้ง ออกหมายเชิญตัวบุคคลไปแล้ว 3,935 หมาย (ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2552) แต่สถานการณ์ในภาคใต้ก็ยังไม่ใกล้เคียงกับความสงบ ยิ่งปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ดูจะยิ่งสร้างปัญหาตามมาไม่รู้จบ!

คำถามที่แหลมคม ณ วันนี้ก็คือ การใช้อำนาจลักษณะเดียวกันจากกฎหมายฉบับเดียวกัน ภายใต้ปัญหาที่มีรากฐานจากความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองคล้ายๆ กัน จะสำเร็จลงได้อย่างไร?

พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มองว่า รัฐบาลต้องดูให้ออกว่าเบื้องลึกและเนื้อแท้จริงๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางการเมือง ฉะนั้นต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่แก้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงด้านเดียว

"กฎหมายมีความร้ายแรงพอๆ กับอาวุธ ฉะนั้นการแก้ไขด้วยกฎหมายจึงไม่ได้ผล ยิ่งมีคนตายไปแล้ว การพยายามใช้กฎหมายจะยิ่งทำให้สถานการณ์หนักหนามากขึ้นไปอีก เท่ากับการราดน้ำมันลงบนกองไฟ รัฐบาลต้องยอมรับว่าถึงวันนี้รัฐบาลพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ใช่ยิ่งเพิ่มความเข้มของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะจะยิ่งสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความรุนแรง"

พล.ท.ดร.พีระพงษ์ ชี้ว่า จริงๆ แล้วปัญหาภาคใต้กับปัญหาการชุมนุมในกรุงเทพฯขณะนี้มีความคล้ายคลึงกัน คือมีรากฐานของปัญหามาจากเรื่องการเมือง ซึ่งแก้ด้วยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้

"ถ้าคิดกันอย่างนี้ ต่อไปสถานการณ์ในกรุงเทพฯจะเป็นเหมือนภาคใต้ คือทุกอย่างจะลงใต้ดินหมด อย่าลืมว่าภาคใต้แค่ 3 จังหวัดคุณยังแก้ไม่ได้เลย แล้วนี่ขยายไป 10 กว่าจังหวัดหรือ 20 จังหวัด คุณจะแก้ได้อย่างไร" พล.ท.ดร.พีระพงษ์ ตั้งคำถาม

เขาบอกด้วยว่า ทางออกที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดคือแก้การเมืองด้วยการเมือง รัฐบาลต้องเปิดการเจรจา รับฟัง และคลี่คลายปัญหาไปพร้อมๆ กันทุกมิติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเหตุการณ์ในส่วนนั้นก็ต้องจัดการไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่รัฐพยายามใช้กฎหมายบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ หรือกล่าวหาอีกฝ่ายเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเกลียดชัง

รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เพิ่งบรรยายในหัวข้อ "สันติวิธีในสังคมไทย : การรับรู้และความเข้าใจ" ในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 ที่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า แม้กฎหมายจะเป็นกลไกของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่การบังคับใช้กฎหมายกับคนจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสน ซึ่งอาจคิดเป็นแค่ 1% ของประชากรในประเทศ รัฐจะทำอะไรไม่ได้เลย

"ไม่ว่าจะกฎหมายความมั่นคงฯ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริงๆ มันใช้ไม่ได้กับคนจำนวนมากๆ"

รศ.ดร.มารค ยังบอกด้วยว่า สันติวิธีในแบบ Conflict Transformation คือการแปรเปลี่ยนรากเหง้าของความขัดแย้งเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ท้าทายสังคมไทย

"วิธีการนี้กำลังท้าทายคนในวงการสันติวิธีและสังคมไทย เราต้องขุดไปถึงรากของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นวิธีการที่ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากจ่ายต้นทุนสูง ใช้ความรุนแรงง่ายกว่า แต่มันไม่ยั่งยืนและจะสร้างปัญหาตามมา ฉะนั้นสังคมต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน โจทย์ของสังคมไทยวันนี้คือน่าจะเริ่มต้นยอมรับความจริง และเปลี่ยนในสิ่งที่ควรเปลี่ยนหรือไม่ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข"

สอดคล้องกับ ผศ.อับดุลเลาะ อับรู นักวิชาการจากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่มองว่า หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนเกิดความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้กลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังคงประท้วงอยู่ กลายเป็นเสื้อแดงคุมเกม แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยจากการใช้ พ.ร.ก.

คำถามกลับกลายไปอยู่ทางฝั่งรัฐบาลที่กำลังโยนความผิดจากปฏิบัติการเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ไปให้ "คนเสื้อดำ" หรือ "มือที่สาม"

"วิธีของรัฐคือพยายามทำให้ประชาชนมองว่าแดงไม่เกี่ยว รัฐไม่เกี่ยว รัฐดีหมด แดงดีหมด เพราะฉะนั้นต้องไปเอาผิดที่เสื้อดำหรือมือที่สาม แต่ก็บอกว่าเสื้อดำมีความสัมพันธ์กับแดง รัฐพยายามให้คนเกลียดดำและเกลียดแดง นี่คือการแย่งชิงมวลชน แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงเลยว่าการส่งทหารเข้าไป อะไรจะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ประวัติศาสตร์ก็บอกตลอดว่าการส่งทหารเข้าไปในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ผลจะเป็นอย่างไร"

ในความเห็นของ ผศ.อับดุลเลาะ เขามองว่ารัฐบาลมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

“ในครอบครัวของเรา เมื่อเกิดอะไรไม่ดี หัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบ เหมือนกับในระดับประเทศ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ แต่นี่รัฐบาลไม่เคยคิดที่จะรับผิดชอบอะไรเลย เมื่อรัฐบาลมองว่าไม่ใช่ความผิดของตน แต่เป็นความผิดของเสื้อดำ และดำก็ไปอยู่กินกับแดงด้วย จึงเหมือนเป็นการปัดความรับผิดชอบ แต่ลืมนึกไปว่าในภาวการณ์ฉุกเฉิน กติกาแบบนี้ รัฐบาลปล่อยทหารออกมา และได้มองข้ามในสิ่งที่ตัวเองทำ”

ผศ.อับดุลเลาะ ชี้ว่า ทางออกในขณะนี้ต้องใช้วิธีนอกตำรามาผ่าทางตัน

"หลายฝ่ายพยายามออกมาบอกว่าให้ทุกฝ่ายถอย ถามว่าใครจะถอย การเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเช่นนี้ ต้องลำดับความสำคัญของเรื่อง และแสดงให้เห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กลับส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงมาก ซึ่งรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ เราต้องมองวิกฤติเพื่อคลี่คลาย ไม่ใช่แก้ไขแบบปกติตามตำรา"

และทางออกนอกตำราก็คือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งไม่ใช่การยอมทำตามข้อเรียกร้องของ “คนเสื้อแดง” แต่เป็นการคลี่คลายวิกฤติเฉพาะหน้าให้ยุติลง

“ไม่ใช่ว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามเขา แต่เป็นความรับผิดชอบทางสังคม ฉะนั้นให้ลำดับเรื่องไปเลย เสนอเรื่องไปที่สภา ลำดับว่าอะไรก่อนอะไรหลัง น่าจะพอฟังได้ แดงก็คงจะฟังได้ สมมติว่านำประเด็นต่างๆ ไปพูดในสภา จะแก้กฎหมายบางมาตรา แก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แก้ให้เร็วที่สุด เสร็จแล้วยุบสภา แล้วค่อยไปจัดการเรืองอื่น อย่างนี้น่าจะพอไปได้ ไม่ใช่มาพูดว่าเลือกตั้งใหม่เดี๋ยวแดงมาอีก เดี๋ยวเหลืองออกมา นั่นมันเป็นเรื่องของอนาคต เพราะถ้าคิดแก้ทุกอย่างให้สงบมันต้องใช้เวลานานมาก สถานการณ์วิกฤติไม่มีทางที่จะเกิดสันติสุขเร็วๆ ได้ เมื่อประชาชนนับแสนมา เราต้องการให้เขากลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว จึงต้องหาทางออกตรงนี้ก่อน”

“เรื่องนี้เป็นปัญหาการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง คือให้สภาได้ทำงาน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายนั้น ปัญหามันมีตัวแปรเยอะจนทำให้กฎหมายใช้ไม่ได้ สังคมเองก็เรรวน ต้องยอมรับว่าทหารเองไม่อยากไปทำอย่างนั้น (การสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันที่ 10 เม.ย.) แต่มีกฎหมายไปบีบบังคับให้ทหารทำ เช่นเดียวกับเรื่องสองมาตรฐาน ฝ่ายรัฐบอกว่าไม่ใช่ แต่มันค้านสายตาคนดู”

“ปัญหาภาคใต้เล็กน้อยหากไปเทียบกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่มันจะย้อนกลับมาที่ภาคใต้ การที่เสื้อแดงประท้วงที่กรุงเทพฯ ถ้าเกิดที่ปัตตานี แล้วอาศัยฐานคิดเช่นนี้มาเป็นประสบการณ์ สังคมประเทศไทยจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองเรามันถลำลึกจนเกิดความขัดแย้งทางจิตใจ ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหาก็อย่าไปยอกย้อน” ผศ.อับดุลเลาะ กล่าว

ถึงที่สุดแล้วการยึดหลัก “นิติรัฐ” ที่พูดๆ กันนั้น ไม่ควรมองกันแค่การบังคับให้ทุกอย่างในรัฐเป็นไปตามกฎหมาย แต่ต้องมองถึงเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเป็นธรรม อันหมายถึง“หลักนิติธรรม” ด้วย

เพราะทุกปัญหาไม่ใช่แก้ได้ด้วยกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น...โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง!

--------------------------------------------------------------

บรรยายภาพ :

1 พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

2 รศ.ดร.มารค ตามไท

3 ผศ.อับดุลเลาะ อับรู