Monday, April 19, 2010

ไฟแนนเชียลไทม์: ข้อห้ามของราชวงศ์ไทยกำลังถูกบีบคั้น


Thai royal taboo under pressure
By Tim Johnston
April 14, 2010
ที่มา – Financial Times
แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กรุงเทพ – รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยออกมาท้าทายหนึ่งในข้อต้องห้ามที่มีมาอย่างยาวนานที่สุดของประเทศ โดยการเรียกร้องให้มีการถกเถียงอย่างเปิดเผยในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เป็นเวลาเนิ่นนานที่ราชวงศ์ของไทยอยู่ในสถานะที่แตะต้องไม่ได้ ได้รับการสรรเสริญในทุกด้าน และได้รับการปกป้องจากการวิจารณ์โดยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งโหดร้าย แต่ขณะนี้กษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช ซึ่งทรงครองราชย์มายาวนานที่สุดของโลกทรงมีพระชนมายุ ๘๒ พรรษา และทรงมีพระพลานามัยที่อ่อนแอ

แม้ประเทศไทยกำลังดิ้นรนเพื่อหาวิธีที่จะปรองดองทางการเมือง โดยมีผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลจำนวนนับพันออกมาบนท้องถนน ความกดดันกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นต่อการให้มีการประเมินบทบาทใหม่ของสถาบัน ซึ่งคนไทยหลายคนอ้างถึงว่าคือ “สถาบันสูงสุด”

กษิต ภิรมย์ รมต.ต่างประเทศ กล่าวระหว่างการสัมมนาในสหรัฐฯว่า “ผมคิดว่า เราต้องพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรจะเกิดการปฏิรูปสถาบันด้วยตัวเอง ในโลกที่ทันสมัยติดต่อกันได้ทั่วถึงแบบนี้”

เขากล่าวต่อว่า “เป็นขั้นตอนที่เราทุกคนจะต้องก้าวผ่าน และผมคิดว่าเราควรจะกล้าหาญเพียงพอที่จะผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ และการกล่าวถึงแม้แต่จะเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์”

รัชกาลแห่งกษัตริย์ภูมิพล ได้เปลี่ยนแปลงประเทศจนแทบจะจำไม่ได้ นับตั้งแต่พระองค์ทรงขี้นครองราชย์ในปี ๒๔๘๙ ความเติบโตทางเศรษฐกิจได้อยู่เหนือระดับมาตรฐานทั้งความเป็นอยู่ และทั้งการศึกษา แต่สถาบันเองยังเกาะติดเหนียวแน่นอยู่กับประเพณีโบราณของตัวเอง

แม้อำนาจของกษัตริย์มีขอบเขตจำกัดตามรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งจริยธรรมโดยแท้นับเป็นเวลานานปี

แม้ฝ่ายประท้วงต่อต้านรัฐบาลเสื้อแดงซึ่งขณะนี้กำลังชุมนุมบนท้องถนนในกรุงเทพ และผู้ซึ่งถูกใส่ความมาโดยตลอดจากฝ่ายตรงข้ามว่า มีความคิดแอบแฝงที่จะตั้งตัวเป็นสาธารณรัฐ ยังหยุดการประท้วงสองครั้งในเวลา ๘.๐๐ น.และ ๑๘.๐๐ น.ทุกวัน เพื่อยืนตรงเคารพธงชาติซึ่งมีการถ่ายทอดเป็นระบบทั้งประเทศ

แต่ความชื่นชมเช่นเดียวกันนั้น ยังไม่ผ่านต่อไปถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ พระชนมายุ ๕๗ พรรษา ผู้ซึ่งคาดว่าจะเป็นองค์รัชทายาท

สื่อต่างประเทศต่างหลงใหลในเรื่องของราชวงศ์นี้ และหลายคนได้เขียนบทความวิจารณ์ รวมถึงรายการสารคดีในออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ แสดงวิดีโออื้อฉาวภาพแล้วภาพเล่าในงานฉลองวันเกิดของราชวงศ์ ซึ่งถูกปิดกั้นในประเทศไทย

การถกเถียงอย่างเคร่งเครียดเบื้องหลังประตูที่ปิดตายเกี่ยวกับสภาพหลังรัชสมัยกษัตริย์ภูมิพลแห่งประเทศไทย – ชาวบ้านบางคนเมื่อรวมตัวกันจะพลาดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเรื่องนี้ – แต่กลับเป็นความเงียบเชียบในที่สาธารณะเพราะความกลัวกฎหมายหมิ่นฯที่คลุมเครือ และนำมาใช้อย่างไร้เหตุผล ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกถึง ๑๕ ปี หากพบว่ากระทำผิดในการหมิ่นกษัตริย์

แม้องค์กษัตริย์เองจะทรงตรัสว่าพระองค์ไม่ได้อยู่เหนือการวิจารณ์ แต่เจ้าหน้าที่รัฐได้นำมาใช้เป็นอาวุธกล่าวหาว่าหมิ่นฯอย่างเมามัน เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม สร้างเกราะปกป้องความเชื่อถือที่เป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่พิกลพิการแต่ดั้งเดิม โดยการตีกรอบไม่ให้มีการถกเถียงในที่สาธารณะ

แต่การถกเถียงหาทางแสดงออกในด้านอื่น กระทรวงไอซีทีปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนนับพันๆเว็บ เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสร้างความหายนะโดยการหมิ่นสถาบันกษัตริย์

แม้แต่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งกล่าวในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ ๑๖ เดือนก่อนว่า หน้าที่ความรับผิดชอบหลักของเขาคือ ปกป้องสถาบันกษัตริย์ มากกว่าจะรับใช้ประชาชน หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และยังยอมรับว่า สถาบันจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

อภิสิทธิ์กล่าวในปีนี้ว่า “เราโชคดีเหลือเกินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวมที่ทรงประเสริฐ แต่คนไทยจะต้องหัดเรียนรู้ และสังคมไทยต้องมีพัฒนาการจนถึงจุดที่ว่า เราสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวของเราเองได้”

ที่มา http://liberalthai.wordpress.com/2010/04/16/thai-royal-taboo-under-pressure/

No comments:

Post a Comment