Tuesday, April 20, 2010

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: กรัมชี่กับการต่อสู้ของนปช.และ 20(+5)ศพถือเป็นราคาที่แพงเกินไปแล้ว

มติชนออนไลน์ 20 เมษายน พ.ศ. 2553
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ใครที่คิดว่า ถ้าชุมนุมต่อ แล้วบีบให้ยุบสภา หรือแม้แต่ให้อภิสิทธิ์ออกได้ จะทำให้ถือได้ว่า การชุมนุมนี้เป็น "ชัยชนะ" ลองให้เหตุผลให้ผมดูหน่อยเถอะว่า การยุบสภา (และอภิสิทธิ์อาจจะออก) นี่มันมีคุณค่าสูงกว่า 20(+5) ชีวิตที่เสียไปอย่างไร?

หมายเหตุ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งกระทู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบันลงในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งมติชนออนไลน์เห็นว่าเนื้อหาของกระทู้ดังกล่าวมีความน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้


Gramsci′s strategic recommendation (ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของกรัมชี่) กับการต่อสู้ของ นปช.


ผมกำลังพยายามเขียนบทความเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อทำนองว่า Gramsci′s strategic recommendation (ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของกรัมชี่) โดยจะอภิปรายข้อความที่มีชื่อเสียงเป็นตำนาน (legendary passages) ของกรัมชี่ใน Prison Notebooks ว่าด้วย War of Position กับ War of Manoeuvre


บทความจริงๆต้องการให้เป็นบทความทางทฤษฎีวิชาการ ไม่ใช่เกี่ยวกับการเมืองปัจจุบัน แต่มีนัยยะบางอย่างเกี่ยวกับข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของกรัมชี่ ที่คิดว่าน่าสนใจ และอาจจะชวนให้คิดเกี่ยวกับปัจจุบันได้ ผมจึงนำมาเล่าให้ฟังก่อนอย่างสั้นๆ ดังนี้


สิ่งที่เป็นหัวใจของข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของกรัมชี่ คือ


ในประเทศที่สังคมมีพัฒนาการในระดับที่ค่อนข้างมากแล้ว คือมีความซับซ้อนมากขึ้นในแง่กลไกสังคมทางวัฒนธรรมต่างๆ การต่อสู้กับศัตรูในลักษณะโจมตีแบบรวดเร็ว, ฉับพลัน และซึ่งๆหน้า ชนิด "ม้วนเดียวจบ" (frontal war หรือ war of manoeuvre) ไม่อาจนำมาซึ่งชัยชนะแท้จริงได้ เพราะอำนาจแท้จริงของศัตรู มีฐานที่กว้างขวางซับซ้อนในสังคมมากกว่าเพียงแค่กำลังหรืออำนาจแคบๆเพียงหยิบมือเดียว (มีคนสนับสนุน เห็นชอบด้วยหนาแน่นในสังคม และในกลไกต่างๆ) ซึ่งเราสามารถเอาชนะด้วยการโจมตีแบบ war of manoeuvre ได้


ดังนั้น จึงควรใช้ยุทธศาสตร์แบบยืดเยื้อ "ขุดสนามเพลาะ" (trench warfare หรือ war of position) เอาชนะในแง่ของการเมืองและวัฒนธรรม ยึดเป็น "จุดๆ" หรือ "ที่มั่นๆ" ในแต่ละช่วง (one or several positions at a time) ไม่ใช่ทีเดียว (all at once) แบบ war of manoeuvre (เพราะทำไม่ได้ด้วย คือไม่สามารถเอาชนะด้วย frontal war ทีเดียว)


.................


ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของกรัมชี่สามารถใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันของ นปช. ได้เพียงใด โปรดพิจารณา .....



20(+5)ศพ เป็น "ราคา" ที่ "แพงเกินไป" ที่จ่ายไปแล้ว กับสิ่งที่อาจจะได้มา คือยุบสภา หรือแม้แต่อภิสิทธิ์ออก (อาจจะไม่ได้อะไรเลยก็ได้) การที่ยังชุมนุมเสี่ยงชีวิตต่อไปอีกนี่เพื่ออะไรนะครับ? "ขาดทุน" ด้วยชีวิตคนเพิ่มมากขึ้นไปอีก?


ในความเห็นของผม ด้วย 20(+5) ศพ ที่เสียไปแล้ว ผมถือว่า การชุมนุมรณรงค์ครั้งนี้ ล้มเหลว หรือ พ่ายแพ้แล้ว


ต่อให้ชุมนุมต่อไป และโชคดีไม่มีการสูญเสียอะไรอีก และบีบให้มีการยุบสภา หรือถึงขั้นอภิสิทธิ์ลาออก (อภิสิทธิ์ลาออกโดยไม่มีการสูญเสียเพิ่มขึ้นอีก คงยาก)


ผมก็ถือว่า "ไม่คุ้ม" กับ "ราคาที่จ่ายไปแล้ว" (20+5 ศพ) อยู่นั่นเอง และยังยืนยันว่า การณรงค์ชุมนุมครั้งนี้ เป็นการรณรงค์ที่ล้มเหลว และพ่ายแพ้อยู่นั่นเอง


การที่ยังชุมนุมแบบเสี่ยงชีวิตคนต่อไปอีก (ไม่เจรจา ไม่หาทางลง) เพื่ออะไรครับ?


เพื่อล้มเหลว และ พ่ายแพ้ มากขึ้น?


ใครที่คิดว่า ถ้าชุมนุมต่อ แล้วบีบให้ยุบสภา หรือแม้แต่ให้อภิสิทธิ์ออกได้ จะทำให้ถือได้ว่า การชุมนุมนี้เป็น "ชัยชนะ"


ลองให้เหตุผลให้ผมดูหน่อยเถอะว่า การยุบสภา (และอภิสิทธิ์อาจจะออก) นี่มันมีคุณค่าสูงกว่า 20(+5) ชีวิตที่เสียไปอย่างไร? (ถามโดยยังไม่ต้องรวมถึงชีวิตที่อาจจะเสียไปอีกด้วยซ้ำ)


........................................


ปล.สำหรับคนที่เตรียมจะเขียน "ถามกลับ" ต่อผมทำนองว่า ทำไมไม่เขียนว่าเพียงเพื่อรักษาตำแหน่ง รักษาอำนาจตัวเอง อภิสิทธิ์ยินดีเสียชีวิตคน 20(+5)คน และยินดีที่จะเสียเพิ่มอีกเชียวหรือ? อะไรทำนองนั้น


ขอให้ลองนึกลงไปให้ลึกอีกขั้นว่า ถ้าในเมื่อคุณรู้ว่า อภิสิทธิ์เป็นคนที่พร้อมจะรักษาอำนาจด้วย 20(+5)ศพ และอีกหลายๆศพ ทำไมในการสู้กับคนประเภทนี้ คุณจึงไม่หาทางที่ปลอดภัยสำหรับผู้ร่วมชุมนุมกว่านี้ล่ะครับ?

No comments:

Post a Comment