Saturday, March 21, 2009

ความอับจนของ “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง”

โดย :ใจ อึ๊งภากรณ์
The King's Sufficiency Economy is just an ideology to keep the poor in their place.

ทุกวันนี้คนไทยถูกเป่าหูด้วยเศรษฐกิจพอเพียงทุกวัน เหมือนกับว่าเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย มันคืออะไร? นำมาใช้อย่างไร? ต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณอย่างไร? ทำไมทหารเผด็จการ คมช. นำมาบรรจุในรัฐธรรมนูญปี ๕๐? ทำไมรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่จะนำไปสอนชาวโลกได้??? แล้วทำไมมีคนโจมตีแนวคิดนี้อย่างรุนแรงในวารสารเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศ?

ผมขออ้างอิงคำพูดของคนขับรถแทคซี่คนหนึ่งในกรุงเทพฯ เพราะคนขับคนนี้สะท้อนความคิดของคนส่วนใหญ่ เขาบอกผมว่า "สำหรับคนข้างบนเขาพูดง่าย เรื่องพอเพียง ไปไหนก็มีคนโยนเงินให้เป็นกระสอบ แต่พวกเราต้องเลี้ยงครอบครัว จ่ายค่าเทอม เราไม่เคยพอในแง่นี้จะเห็นว่าคนจนไม่น้อยมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำพูดของคนชั้นบน เพื่อให้เรารู้จัก พอ” (ไม่ขอเพิ่ม) ท่ามกลางความยากจน และเป็นคำพูดของคนที่ไม่เคยพอเพียงแบบคนจนเลยอีกด้วย ... บทความของอาจารย์ พอพันธ์ อุยยานนท์ (๒๕๔๙ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ) การต่อสู้ของทุนไทยสำนักพิมพ์มติชน) แสดงให้เห็นว่าธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีการลงทุนกว่า 45 พันล้านบาท ไม่น่าจะเรียบง่ายอะไร ...แล้วพอเรามาดูค่าใช้จ่ายของวังต่างๆ ยิ่งเห็นชัด

ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิล้าหลังของคนชั้นสูงเพื่อสกัดกั้นการกระจายรายได้และสกัดกั้นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เป็นลัทธิเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนที่รวยที่สุด และที่น่าปลื้มคือคนจนทั่วประเทศเข้าใจประเด็นนี้ ในขณะที่นักวิชาการและคนชั้นกลางยังหลงใหลกับลัทธิพอเพียงอยู่

สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูงจากหลายแหล่ง และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่

ขบวนการเอ็นจีโอ โดยเฉพาะสาย ชุมชน” (ดูงาน อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา) จะคิดกันว่าแนว พอเพียงสอดคล้องกับสิ่งที่เขาเสนอมานานเรื่องการปกป้องรักษาชุมชนให้อยู่รอดได้ท่ามกลางพายุของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แนวคิดชุมชนแบบนี้มองว่าเราควรหันหลังให้รัฐ ไม่สนใจตลาดทุนนิยมมากเกินไป พยายามสร้างความมั่นคงของชุมชนผ่านการพึ่งตนเอง ผ่านการแลกเปลี่ยนแบบมีน้ำใจและความเป็นธรรม หรือปฏิเสธบริโภคนิยม มันเพ้อฝัน หมดยุค(ถ้าเคยมียุค) แต่เขาหวังดี ไม่เหมือนพวกที่เสนอลัทธิพอเพียง

หลังรัฐประหาร 19 กันยา มีการนำ เศรษฐกิจพอเพียงของพระราชวัง มาเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีคลังคนแรกของ คมช. ในวันที่ 2 พ.ย. 49 อธิบายว่า... เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอย่าขยายเกินกำลังทุนที่มี.... ให้พอดี... ไม่เกินตัว... เป็นแนวเศรษฐศาสตร์พุทธ.... ต้องมีการออม... การลดหนี้ครอบครัว..เป็นแนวสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนแต่พอเราอ่านรายละเอียดแล้วพยายามสรุป มันมีสาระเพียงว่า อย่าทำให้พัง ล้มละลายแค่นั้น หรือ ใครรวยจ่ายมากได้ ใครจนต้องจ่ายน้อยเด็กอายุ4 ขวบคงคิดแบบนี้ได้ ไม่ต้องมีสมองใหญ่โต

ปรีดิยาธร เทวกุล เสนออีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพ.....การรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ” “การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีทำได้และเราก็เห็นว่ารัฐบาล คมช. ผลักดันนโยบายเสรีนิยมสุดขั้วของกลุ่มทุนมากกว่าไทยรักไทยเสียอีก เช่นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การตัดงบประมาณสาธารณสุข การเพิ่มงบประมาณทหาร การผลักดัน FTA (สัญญาค้าเสรี) กับญี่ปุ่น หรือการเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟและไฟฟ้าเป็นต้น ในกรณีไทยรักไทย เขาทำนโยบายเสรีนิยมทั้งหมดดังกล่าวด้วย แต่คานมันโดยใช้นโยบายการเพิ่มค่าใช้จ่ายรัฐ (แบบเคนส์) ในเรื่องกองทุนหมู่บ้าน หรือสาธารณูปโภค หรือ30บาทรักษาทุกโรค พูดง่ายๆ ไทยรักไทย ใช้นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน ทั้งตลาดเสรีและรัฐนิยมพร้อมกัน

เราต้องฟันธงว่าลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีเจตนาที่จะลดอำนาจกลุ่มทุนและอิทธิพลคนรวยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมันเป็นคำพูดที่พยายามหล่อลื้นการหันไปสนับสนุนตลาดเสรีของนายทุนใหญ่อย่างสุดขั้ว และรัฐธรรมนูญ คมช. ปี ๕๐ ก็ยืนยันสิ่งนี้

แล้วสาระของเศรษฐกิจพอเพียงมีมากกว่านี้ไหม? เราถือว่าเป็นทฤษฏีเศรษฐกิจได้ไหม? วารสาร The Economist เขียนไว้ว่ามันเป็นความคิดเศรษฐศาสตร์ที่เหลวไหลเพ้อฝัน เพียงแต่ ประทับตราราชวังเท่านั้น

เศรษฐกิจพอเพียงไม่เอ่ยอะไรที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ เช่นการใช้รัฐหรือการเน้นตลาดในการบริหารเศรษฐกิจ หรือวิธีกระจายรายได้ของประเทศ และไม่พูดถึงสวัสดิการหรือรัฐสวัสดิการเลย ในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจมีแต่จะเสนอให้คนจนไป ยากจนแต่ยิ้มกับญาติในชนบท

ในที่สุดสิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนและความพอเพียงแท้กับคนส่วนใหญ่คือการสร้างระบบรัฐสวัสดิการ และต่อจากนั้นต้องเดินหน้าสู่ สังคมนิยมที่ยกเลิกการใช้กลไกตลาดในการแจกจ่ายผลผลิต หันมาใช้การวางแผนโดยชุมชนและประชาชนในลักษณะประชาธิปไตย และนำระบบการผลิตมาเป็นของกลาง บริหารโดยประชาชนเอง ซึ่งหมายความว่าต้องยกเลิกระบบชนชั้นที่บางคนรวยและควบคุมทุกอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนและเป็นเพียงลูกจ้างหรือเกษตรกรยากจน

สรุปแล้วเศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิของคนชั้นบนที่รวยที่สุดในสังคม เพื่อกล่อมเกลาให้คนส่วนใหญ่ก้มหัวยอมรับสภาพความยากจน มันเป็นลัทธิของพวกที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นทาส ไทยเป็นไพร่ และที่สำคัญ พวกนี้พยายามใช้กฎหมายหมิ่นฯและการปกปิดเสรีภาพ เพื่อไม่ให้เราวิจารณ์ลัทธิที่อับจนอันนี้

แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่โง่ หูตาสว่างแล้ว เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี... และนั้นคือสิ่งที่พวกข้างบนกลัวที่สุด!

ถ้าเราไม่สามารถใช้ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงได้ ในวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน เราจะมีข้อเสนออะไร?

ผมคิดว่าข้อเสนอของ องค์กรเลี้ยวซ้าย มีประโยชน์ จึงขอส่งมาให้ดูด้วย.... จาก www.pcpthai.org

(2) ในวิกฤตเศรษฐกิจนี้ กรรมกรและนักสังคมนิยมต้องมีจุดยืนแบบไหน?

ข้อเสนอขององค์กรเลี้ยวซ้าย

ถึงเวลาแล้วที่นักสหภาพแรงงาน และนักเคลื่อนไหวทั่วไป ต้องตื่นตัวกับปัญหาอันใหญ่หลวงที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก เราต้องหยุดพูดถึงการปลดคนงานว่าเป็น แค่การฉวยโอกาสของนายจ้างหยุดพูดกันได้แล้วว่ามาตรการสำหรับคนตกงานควรจะเป็น การฝึกฝีมือเพราะจะไปฝึกทำอะไร ในเมื่อไม่มีงานทำ?

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ

เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในด้วยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการลงทุนในระบบการศึกษาและโรงพยาบาล

เร่งกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มรายได้ให้คนจน โดยการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ถึงวันละ 300 บาท ... เงิน 2000 บาทที่รัฐบาลจะให้บางคนเป็นเรื่องดี แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยคนจนและกระตุ้นกำลังซื้อ

รีบระดมรายได้เข้ารัฐจากการเพิ่มภาษีรายได้ และภาษีทรัพย์สินฯลฯกับคนรวย ซึ่งควรจะเสียสละเพื่อปกป้องเศรษฐกิจชาติ

ถ้ารัฐช่วยเหลือบริษัทเอกชนด้วยเงินของเรา รัฐต้องมีเงื่อนไขว่าบริษัทเหล่านั้นจะต้องไม่เลิกจ้างคนงาน

รัฐต้องขยายสวัสดิการตกงานให้ครอบคลุมทุกคนที่ตกงานโดยไม่มีเงื่อนไข และขยายเวลาออกไปให้เขาได้รับเงินสองปี

ทำไมมันเป็นวิกฤตจริงในไทย

ในวิกฤตเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน ผลกระทบที่เริ่มเห็นในประเทศไทยมาจากการที่ตลาดส่งออกสินค้าไทยหดตัวลงทั่วโลกอย่างน่าใจหาย เพราะเศรษฐกิจอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และแม้แต่จีนหดตัวและอยู่ในสภาพวิกฤต นอกจากนี้บริษัทข้ามชาติที่ลงทุนสร้างโรงงานในไทย มีปัญหาทางด้านการเงิน จนมีการลดหรือยกเลิกการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอีเลคโทรนิคซ์ ซึ่งส่งผลต่อไปเป็นลูกโซ่ต่อบริษัทเล็กๆ ที่เกี่ยวพันธ์กัน ลองคิดดูซิ บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ในอเมริกาและญี่ปุ่นถึงขั้นล้มละลาย ระบบธนาคารถึงขั้นที่รัฐบาลตะวันตกจะเข้าไปยึดเป็นของรัฐ พร้อมกันนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศและสร้างงานและรายได้ให้ชาติ ได้หดตัวลงอย่างน่าใจหายอีก เนื่องจากการกระทำของพันธมิตรฯ และการที่คนต่างประเทศไม่มีเงินมาเที่ยวเมืองไทย

สาเหตุของวิกฤตโลก

สาเหตุของวิกฤตทุนนิยมโลกรอบนี้มาจากการที่อัตรากำไรในระบบ มีแนวโน้มลดลงเสมอ อันเนื่องมาจากกลไกตลาดและการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการลงทุนในเครื่องจักร นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ ค้นพบนานแล้ว และเขียนบรรยายไว้ในหนังสือ ว่าด้วยทุนก่อนที่จะเกิดวิกฤตรอบนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยายามพยุงอัตรากำไรและเศรษฐกิจ ด้วยการปล่อยกู้ให้คนจน โดยที่การซื้อสินค้าของคนจนได้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก่อให้เกิดหนี้เสียมหาศาลจนระบบธนาคารทั่วโลกพัง เมื่อระบบธนาคารพังบริษัทใหญ่ๆ กู้เงินไม่ได้ ก็มีการเลิกจ้างคนงาน ซึ่งทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ของการหดตัวของเศรษฐกิจ วิกฤตโลกครั้งนี้พอๆ กับยุค ๒๔๗๕

ข้อสรุปสำคัญจากข้อมูลนี้คือ

กลไกตลาดเสรีของทุนนิยมสร้างปัญหาเสมอ เราต้องใช้รัฐควบคุมตลาด และต้องสร้างรัฐสวัสดิการ

ระบบทุนนิยมไม่สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของประชาชนโลกได้ เราต้องสร้างสังคมนิยมในระยะยาว

ในระยะสั้นรัฐบาลทุกประเทศต้องกระตุ้นตลาดภายในอย่างเร่งด่วน และต้องปกป้องคนจากการตกงาน

เมื่อเจ็ดสิบปีมาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ได้อธิบายไปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกค.ศ. 1930 ว่า การรักษาวินัยทางการคลังหรือการตัดงบประมาณ (สูตรที่พรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตร และนักวิชาการเสรีนิยมท่องเหมือนนกแก้ว) จะนำไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจและวิกฤตที่ร้ายแรงขึ้นอีก เพราะมีการตกงาน คนตกงานซื้อสินค้าไม่ได้ ก็นำไปสู่คนตกงานมากขึ้น และความยากจนทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยการสร้างงานและปกป้องไม่ให้คนตกงาน

การเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนคนจนทำได้สองวิธีคือ หนึ่ง เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ถึงวันละ 300 บาท พร้อมกับลดหรือยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่คนจนต้องจ่าย ต้องเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจด้วย และต้องตัดหนี้สินเกษตรกรยากจน สอง รัฐบาลต้องปกป้องและสร้างงาน การสร้างงานที่สำคัญต้องเป็นรูปแบบโครงการขนาดใหญ่ เช่นการพัฒนารถไฟทุกสาย ทั่วประเทศ ให้เป็นรถไฟไฟฟ้าความเร็วสูง ต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบรถไฟเพิ่มในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ ต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงแดด ต้องสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนเพิ่มขึ้นฯลฯเป็นต้น โครงการเหล่านี้ต้องถูกกำกับดูแลโดยภาคประชาชนเพื่อไม่ให้มีการโกงกินหรือทำลายวิถีชีวิตประชาชน และเพื่อนำไปสู่ประโยชน์แท้สำหรับคนจน

ในโรงงานที่นายจ้างประกาศปิดหรือลดคนงาน รัฐบาลต้องเข้าไปยึดและร่วมถือหุ้นและลงทุนเพิ่ม โดยให้สหภาพแรงงานร่วมบริหารโรงงาน ต้องมีเงื่อนไขว่าห้ามเลิกจ้าง และต้องหันมาผลิตสิ่งจำเป็น เช่นในโรงงานรถยนต์ควรผลิตรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือรถขนส่งมวลชนให้รัฐ ในโรงงานอีเลคโทรนิคส์ต้องผลิตคอมพิวเตอร์สำหรับโรงเรียนรัฐบาลในชนบท และในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าควรผลิตชุดนักเรียนเพื่อแจกฟรีให้กับประชาชน

ในภาคเกษตรรัฐต้องชักชวนให้เกษตรกรยากจนรวมตัวกันแบบสหกรณ์หรือนารวม ต้องไม่บังคับกัน แต่รัฐควรลงทุนซื้อเครื่องจักรและปุ๋ย และควรประกันราคาผลผลิตให้เกษตรกรกลุ่มนี้ เพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับโรงเรียนหรือโรงพยาบาลของรัฐ

จะเอาเงินมาจากไหน? รัฐบาลไม่น่าจะขาดเงิน เพราะเราเห็นว่ามีเงินจัดพิธีสาธารณะอันใหญ่โตได้ รัฐสามารถลดงบประมาณทหารในส่วนที่ซื้ออาวุธหรือเครื่องบิน แต่ต้องปกป้องค่าจ้างของทหารยากจน ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเพิ่มการเก็บภาษีทางตรงกับคนรวยทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกระจายที่ดิน ในยามวิกฤตคนรวยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ในชาติ ไม่ใช่เอาตัวรอดบนสันหลังคนจน

No comments:

Post a Comment